กาฬสินธุ์ผู้สูงอายุรวมกลุ่มทอเสื่อสร้างอาชีพว่างงานช่วงโควิด-หน้าแล้ง
ผู้สูงอายุในจังหวัดกาฬสินธุ์ และปราชญ์ชาวบ้าน รวมกลุ่มทอเสื่อกก ทอผ้าพื้นเมือง ตามโครงการพัฒนาสัมมาชีพชุมชน ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อสร้างงานให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 และแก้ไขปัญหาการว่างงานในฤดูแล้ง ขณะที่พัฒนาชุมชนอำเภอยางตลาด สนับสนุนปัจจัยการผลิตและการตลาด พร้อมต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ตำบล สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ศาลาประชาคมบ้านหนองขาม หมู่ 3 ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นางอุไรพร ภูถาดลาย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหนองขาม หมู่ 3 พร้อมด้วยกลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ ร่วมกันกรอเส้นด้าย ทอผ้า ทอเสื่อกก ซึ่งเป็นการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สืบสานกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เน้นใช้วัสดุในท้องถิ่น ทั้งที่ปลูกเองและหาได้ง่าย เพื่อประหยัดต้นทุน
นางอุไรพร ภูถาดลาย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหนองขาม หมู่ 3 กล่าวว่า ในฤดูแล้ง ที่ว่างเว้นจากการทำนาปรัง ได้เชิญชวนผู้สูงอายุ สตรีแม่บ้าน รวมกลุ่มกันสร้างงาน เพื่อเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้ ตามที่สำนักงานพัฒนาชุมชน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ได้เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุน ทั้งปัจจัยการผลิต และองค์ความรู้ ในโครงการพัฒนาสัมมาชีพชุมชน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยเลือกอาชีพทอเสื่อกก และทอผ้าพื้นเมือง ซึ่งมีวัสดุและทุนทางสังคมอยู่แล้ว และเป็นอาชีพที่ทำกันในชุมชนในอดีต แต่ได้เลิกราไปตามยุคสมัย พอได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานพัฒนาชุมชนดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะดำเนินการ นอกจากเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญา ให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบสานแล้ว ยังได้ผลิตภัณฑ์จำหน่าย สร้างรายได้เข้าครัวเรือนอีกด้วย
ด้านนายสุนทร พหลทัพ พัฒนาชุมชนอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาสัมมาชีพชุมชน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นนโยบายของกรมพัฒนาชุมชน ขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ ชาวบ้านสอนชาวบ้าน โดยให้ปราชญ์ชุมชน ที่มีความรู้ความสามารถด้านวิชีพสาขาต่างๆ ได้เข้ามาเป็นตัวเชื่อม เป็นผู้นำพาชาวบ้านสร้างงานที่ถนัด และตามความพร้อมของพื้นที่ เช่น ทอเสื่อกก ทอผ้า จักสาน สานเปล และแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชน ได้สนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทั้งด้านปัจจัยการผลิต องค์ความรู้ และการตลาด พร้อมต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ตำบล สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
นายสุนทรกล่าวอีกว่า โครงการสัมมาชีพชุมชนดังกล่าว ยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน และเกิดการต่อยอดขยายผล ได้ใช้กลยุทธ์ชาวบ้านสอนชาวบ้าน โดยใช้ปราชญ์ชุมชนเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน เพื่อให้มีการสร้างงาน สร้างอาชีพ เกิดรายได้ เป็นอาชีพที่ทำได้ง่ายๆ สามารถจำหน่ายได้เรื่อยๆ ตลอดปี ทั้งจำหน่ายในชุมชน ศูนย์จำหน่ายโอทอปทั่วไปขณะที่สำนักงานพัฒนาชุมชน ยังเป็นจุดพักสินค้า การตลาดให้อีกทางหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น