เวทีภาคเหนือคึกคัก "น้องปาร์ม" ด.ญ.ธิดา สมัย นร.ลำปาง คว้าชัยเล่าเรื่องภาษาไทยถิ่นเหนือ ราชบัณฑิตยสภา จัดประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ"เมืองไทยที่ฉันอยากเห็น คนไทยที่ฉันอยากเป็น" ในโครงการ "รู้ รัก ภาษาไทย” ประจำปี 2567 หวังปลุกเยาวชนร่วมกันอนุรักษ์ภาษาถิ่นรากเหง้าวัฒนธรรมชาติไทยให้ยั่งยืน เวทีภาคเหนือคึกคัก
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 ที่ห้องธาราทอง บอลลูน โรงแรมเซนทารา ริเวอร์ไซด์ โฮเทล อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สํานักงานราชบัณฑิตยสภาจัดการประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ “เมืองไทยที่ฉันอยากเห็น คนไทยที่ฉันอยากเป็น” ด้วยภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่น ในโครงการ "รู้ รัก ภาษาไทย” สำหรับนักเรียน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม. 1-3) จาก โรงเรียนต่างๆในภาคเหนือ โดยมีนายศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา และคณะกรรมการ แขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมกิจกรรมและตัดสินผู้ชนะในรอบภาคเหนือ
นายศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวถึงการจัดการประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ “เมืองไทยที่ฉันอยากเห็น คนไทยที่ฉันอยากเป็น” ด้วยภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่นในโครงการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ว่า หน้าที่หลักอย่างหนึ่งของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาตาม พ.ร.บ.ราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2558 ฉบับปัจจุบัน ระบุไว้ข้อหนึ่งว่ามีหน้าที่ ศึกษา อบรมและพัฒนา "ภาษาไทย" ภาษาถิ่น การอนุรักษ์ภาษาไทยไม่ให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม เสริมภาษาไทยให้ปรากฎเด่นชัดยิ่งขึ้น โดยมุ่งเป้าไปที่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ในระดับฐานรากและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะครูภาษาไทยและครูประวัติศาสตร์ ซึ่งจะต้องได้รับเพิ่มเติมองค์ความรู้ในสาขาเพิ่มขึ้นอย่างมีคุณภาพ และตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2558
“สำนักงานราชบัณฑิตยสภามีหน้าที่ข้อหนึ่งคือจัดการศึกษาอบรมและพัฒนาทางวิชาการเกี่ยวกับภาษาไทย ภาษาไทยถิ่น สำนักงานราชบัณฑิตยสภา จึงได้จัดการประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ เมืองไทยที่ฉันอยากเห็น คนไทยที่ฉันอยากเป็น ด้วยภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่น เพื่อให้เยาวชนได้มีเวทีในการแสดงออกในการใช้ภาษาถิ่นของตนเอง และเป็นการอนุรักษ์การใช้ภาษาไทย และภาษาไทยถิ่นต่อไป” รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภากล่าว
สำหรับเยาวชนที่เข้าร่วมการประกวดแข่งขันในปีนี้ เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม. 1-3) จากโรงเรียนต่าง ๆ ในแต่ละภาค โดยให้นักเรียนเล่าเรื่องด้วยภาษาถิ่นที่แสดงถึงความคิดเห็น ทัศนะ มุมมอง และความภาคภูมิใจที่มีต่อประเทศไทยและคนไทย ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือประเด็นที่ผู้เข้าประกวดสนใจ เช่นการมีรากเหง้าทางประเพณี วัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ การมีจรรยามารยาท ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรือค่านิยมอื่นๆ ที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนาน และมีแนวทางที่จะสืบสานเรื่องดังกล่าวให้คงอยู่กับประเทศไทยได้อย่างไร ด้วยภาษาไทยมาตรฐาน ภาษาไทยถิ่นภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคใต้ (โรงเรียนที่อยู่ในภาคใต้ เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคใต้, โรงเรียนที่อยู่ในภาคเหนือ เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคเหนือ, โรงเรียนที่อยู่ในภาคอีสาน เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคอีสาน และโรงเรียนที่อยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยมาตรฐาน) โดยคณะกรรมการจะพิจารณาจากความสามารถในการใช้ภาษาถิ่น มีเนื้อหาที่ผู้ฟังประทับใจ และมีลีลาในการเล่าเรื่องได้อย่างเป็นธรรมชาติสมวัย
อย่างไรก็ตามการประกวดแบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบแรก สํานักงานราชบัณฑิตยสภา ได้คัดเลือกจาก วีดิทัศน์ของแต่ละภาคให้เหลือภาคละ 10 คน รอบสุดท้าย ผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกในแต่ละภาค ต้องมาแสดงความสามารถในการใช้ภาษาถิ่นต่อหน้าคณะกรรมการ สำหรับการประกวดแข่งขันเล่าเรื่องภาษาไทยถิ่น ภาคเหนือในวันนี้ (12 พฤษภาคม 2567) ซึ่งผลการตัดสินของคณะกรรมการ รางวัลชนะเลิศ ของภาคเหนือ ได้แก่ เด็กหญิงธิดา สมัย โรงเรียนบ้านสบพลึง จังหวัดลำปาง รองชนะเลิศอันดับ 1 ด.ญ.กมลชนก สิทธะ โรงเรียนสันทรายวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ รองชนะเลิศอันดับ 2 ด.ญ. นิศาชล เบญจศิริ โรงเรียนแม่สะเรียง “บริพัตรศึกษา” จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ทั้งนี้การประกวดดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติประจำปี 2567 ซึ่งนักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ1 และรองชนะเลิศอันดับ2 ของแต่ละภาค จะเข้ารับรางวัลในงานวันภาษาไทยแห่งชาติของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ในวันอังคารที่ 30 กรกฏาคม 2567 ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ต่อไป.
https://youtu.be/Z9b4zaq-HTw?si=KbxRnJpb_Qvz7NoV
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น