วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562

นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยนายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายทวี จงประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายชำนาญ ชื่นตา ปลัดจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทยและนายอำเภอ เข้าการประชุมมอบนโยบายของกระทรวงมหาดไทย

วันนี้ (29 สิงหาคม 2562) เวลา 09.00 น. นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยนายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายทวี จงประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายชำนาญ ชื่นตา ปลัดจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทยและนายอำเภอ เข้าการประชุมมอบนโยบายของกระทรวงมหาดไทยแก่ผู้บริหารและผู้ว่าราชการจังหวัด ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS) ณ ห้องประชุมพระเวสสันดร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม





พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนความมั่นคง และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจัดทำเป็นยุทธศาสตร์กระทรวงที่มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนภาค แผนกลุ่มจังหวัด แผนจังหวัด แผนอำเภอ และแผนท้องถิ่น ซึ่งส่วนราชการและจังหวัด อำเภอ ต้องบูรณาการจัดทำแผนแต่ละระดับให้มีความเชื่อมโยงกันในลักษณะ one plan ถึงระดับหมู่บ้านสอดคล้องตามความต้องการของประชาชน โดยเน้นย้ำหลักการทำงานต้องยึดหลักธรรมาภิบาล ทั้งหลักนิติธรรม คุณธรรม โปร่งใส มีส่วนร่วม รับผิดชอบ และคุ้มค่า พร้อม “ต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำตามกฎหมาย และบูรณาการการทำงานร่วมกัน” และให้ความสำคัญกับการประเมินผลผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งมิติการทำงานและคุณธรรมจริยธรรม
จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้มอบนโยบายการบริหารราชการให้แก่ผู้บริหารระดับสูงและผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ดังนี้ ด้านโครงการส่งเสริมสถาบันพระมหากษัตริย์ 1) การดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ 1 จังหวัด 1 ถนนเฉลิมพระเกียรติ กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาลำน้ำ คู คลอง และโครงการสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ให้มีความต่อเนื่อง โดยบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมกันปฏิบัติและดูแลรักษาพื้นที่ให้มีความสวยงาม พร้อมติดตามการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน 2) โครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและต้องขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนชาวไทยเป็นผู้มีจิตสาธารณะ เกิดความสมัครสมานสามัคคี ความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศชาติสามารถพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง และให้เชิญชวนประชาชนจิตอาสาร่วมกิจกรรมพัฒนาในโอกาสต่าง ๆ ในพื้นที่ พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนสมัครเป็นจิตอาสาพระราชทาน วปร. 904 นอกจากนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ จังหวัดต้องจัดให้มีโรงครัวพระราชทาน เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ตามแนวทางที่ ศอญ. กำหนด ในด้านความสงบเรียบร้อย 1) การแก้ไขปัญหายาเสพติด ขอให้ลด Demand และ Supply ยาเสพติดให้หมดไป โดยเฉพาะ Demand ต้องจัดกิจกรรมต่าง ๆ บำบัดรักษาผู้ป่วยผู้เสพยาเสพติดให้กลับเข้าสู่สังคมได้อย่างปกติ พร้อมใช้กลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่สอดส่องดูแลในพื้นที่ และต้องดำเนินมาตรการปราบปรามอย่างจริงจังโดยใช้กำลัง อส. และงานด้านการข่าว พร้อมทั้งต้องบูรณาการหน่วยงานลงพื้นที่จับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ปัญหายาเสพติดหมดไปอย่างยั่งยืน 2) การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ที่ผ่านมา ขอชื่นชมฝ่ายปกครองที่สามารถดำเนินการลดปัญหาการค้ามนุษย์ ส่งผลให้การจัดลำดับ TIPS Report จัดประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดีขึ้น จึงขอให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 3) การเตรียมความพร้อมในการจัดการสาธารณภัยในพื้นที่ ขอให้น้อมนำพระราโชบายและพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ 1. ต้องแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนโดยเร็ว 2. ต้องมีแผนอย่างดีทั้งแผนปฏิบัติและแผนเผชิญเหตุ และ 3. นำแนวทางของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการจัดการน้ำมาปฏิบัติต่อให้ครบถ้วน และหลังจากเกิดเหตุการณ์แล้ว ทุกหน่วยงานต้องติดตามและแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนโดยเร็ว และจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน เพื่อช่วยเหลือประชาชนต้องเกิดขึ้นทันที และต้องนำแนวทางพระราชทานเพิ่มเติมภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ภัยแล้ง 3 ประการ คือ 1. หน่วยทุกหน่วยงานต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง 2. ต้องปรับแผนและแนวทางในการปฏิบัติ โดยเฉพาะแผนเผชิญเหตุ 3. ถ้าเกิดความเสียหาย ให้รวบรวมความเสียหาย



ประมาณการ และต่อยอดทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ยังไม่ได้ทำ ให้ดีกว่าเดิม จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ น้อมนำพระราโชบายและแนวทางพระราชดำริไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม พร้อมวางระบบการจัดการสาธารณภัยในพื้นที่ให้มีความพร้อมตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีการประเมินความเสี่ยงและลดความเสี่ยง ติดตาม แจ้งเตือน ประเมินสถานการณ์ และสั่งการอย่างมีประสิทธิภาพ 4) การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหลักในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ทั้งการระบายน้ำในฤดูฝน และกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยต้องบูรณาการหน่วยงานทีเกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ทั้งด้านการเกษตร การอุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรม รวมทั้งป้องกันสถานการณ์อุทกภัยในฤดูฝนหรือเมื่อเกิดพายุต่าง ๆ 5) การดำเนินงานศูนย์ดำรงธรรมถือเป็นเรื่องที่ตอบสนองพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดี ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหมั่นติดตามและให้ความสำคัญกับศูนย์ดำรงธรรม ทั้งการบริหารบุคคล และการแก้ไขปัญหาประชาชน หากเรื่องใดเป็นเรื่องที่เกินอำนาจจังหวัดให้เสนอมายังส่วนกลางเพื่อดำเนินการต่อไป 6) การสร้างการรับรู้สู่ชุมชน ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอให้ความสำคัญและนำข้อมูลข่าวสารจากทุกกระทรวงไปสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ผ่านเครื่องมือและกลไกในพื้นที่ อาทิ สถานีวิทยุจังหวัด วิทยุชุมชน หอกระจายข่าว การทำประชาคม เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนและส่งเสริมให้ประชาชนร่วมขับเคลื่อนงานต่าง ๆ กับภาครัฐ 7) การรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอใช้กลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขับเคลื่อนงานในพื้นที่ตามอำนาจหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ 8) การบริการสาธารณะ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำกับดูแลท้องถิ่นในเรื่องที่สำคัญ เช่น การบริหารจัดการขยะ ต้องส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีการปฏิบัติตามหลัก 3ช (3Rs) คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และส่งเสริมให้ประชาชนและทุกภาคส่วน ให้ความสำคัญในการแยกขยะ รวมทั้ง อปท. ต้องจัดพื้นที่ทิ้งขยะในที่สาธารณะให้เพียงพอ การจัดการน้ำเสีย จะต้องมีแผนงานโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำเสีย และส่งเสริมให้ครัวเรือนมีระบบบำบัดน้ำเสียในเบื้องต้นก่อนปล่อยลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ รวมทั้งการจัดการโรงบำบัดน้ำเสียขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล
นายนิพนธ์ บุญญามณี กล่าวว่า ในด้านสาธารณภัย ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมการรองรับสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มครอบคลุมทุกด้าน รวมทั้งในฤดูมรสุมต้องดูแลความปลอดภัยทั้งการเดินเรือประมงและเรือท่องเที่ยว สำหรับการเตรียมรับภัยแล้ง ต้องสร้างการรับรู้ในพื้นที่เสี่ยงให้ใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมเตรียมการป้องกันไฟป่าโดยบูรณาการทุกภาคส่วน ในด้านการลดอุบัติเหตุทางถนน ขอให้ศูนย์อำนวยการฯ ทั้งระดับจังหวัด และอำเภอ บังคับใช้กฎหมาย สร้างวินัยจราจรในพื้นที่ ในด้านที่ดินทำกิน ให้ปรับปรุงการดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ปี 2562 เร่งรัดให้ดำเนินการให้เป็นไปเป้าหมาย พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ กำชับหน่วยงานในเรื่องการออกรังวัดที่ดิน การออกหนังสือสำคัญ หนังสือสั่งการ และการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะ รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการจัดทำแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ และดูแลที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
นายทรงศักดิ์ ทองศรี ได้เน้นย้ำให้ ข้าราชการในพื้นที่เร่งปฏิบัติราชการ ดูแลประชาชนตามอำนาจหน้าที่ ยุทธศาสตร์ชาติ และเน้นหลักความโปร่งใส พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนในการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เน้นหลักจัดหาตลาดเพิ่มเติม เชื่อมโยงการท่องเที่ยว สร้างสัมมาชีพชุมชน ส่งเสริมบทบาทผู้นำชุมชน ชุมชนโอทอปนวัตวิถี สนับสนุนแหล่งเงินทุน พัฒนากองทุนบทบาทสตรี การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าโอทอป ให้ส่งเสริมตลาดให้เป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างผ่านช่องทางต่างๆ ให้มากขึ้น อาทิ การขายสินค้าออนไลน์ นอกจากนี้ ในด้านการวางและจัดทำผังเมือง ให้ส่งเสริมประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและจัดทำผังเมือง การแก้ไขปัญหาผักตบชวาในพื้นที่ หากเกินความสามารถให้ขอการสนับสนุนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง และในส่วนของการประปาส่วนภูมิภาคต้องบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ในการจัดหาแหล่งน้ำผลิตน้ำประปาให้เพียงพอ ขยายเขตประปาให้ไปถึงพื้นที่ชนบท เพิ่มบทบาทองค์การตลาดในการขายผลิตภัณฑ์ชุมชน โอทอป สินค้าเกษตร โดยการประสานกับหน่วยงานราชการในการระบายสินค้า เช่น หน่วยราชฑัณฑ์ กระทรวงศึกษาธิการ
ด้าน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ กล่าวว่า การดำเนินโครงการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องปฏิบัติตามแนวทางของสำนักงบประมาณอย่างเคร่งครัด และสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยโครงการที่ของบประมาณต้องเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชน และต้องเป็นโครงการที่มีความพร้อม
สุดท้าย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้เน้นย้ำให้ กรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพิจารณาอนุญาตเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและการควบคุมอาคาร สำหรับการจัดการสาธารณภัยและการดำเนินโครงการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องใช้กลไกทุกส่วนราชการและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ตอบสนองความต้องการของพื้นที่ตามแผนงาน/โครงการและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และเป็นไปตามแนวทางสำนักงบประมาณ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น