วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562

หม่อมเต่า’ จับมือหอการค้าไทย ร่วมหาทางออกการปรับอัตราค่าจ้างแรงงาน

‘หม่อมเต่า’ จับมือหอการค้าไทย ร่วมหาทางออกการปรับอัตราค่าจ้างแรงงาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หารือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ ยกประเด็นการปรับโครงสร้างอัตราค่าจ้างของแรงงานไทยเป็นประเด็นเร่งด่วน เน้นย้ำ การปรับอัตราค่าจ้างต้องเป็นไปตามกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี)
วันที่ 28 สิงหาคม 2562 เวลา 08.30 น. หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหารหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่มาเข้าร่วมประชุมหารือข้อราชการด้านแรงงาน ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน





รมว.แรงงาน กล่าวว่า การหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในวันนี้ เป็นการหารือเกี่ยวกับประเด็นการปรับอัตราค่าจ้างของแรงงานไทย การเพิ่มผลิตภาพแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน การส่งเสริมการจ้างแรงงานที่มีศักยภาพมาใช้ในตลาดแรงงาน การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแรงงาน (Big Data) ของกระทรวงแรงงาน การส่งเสริมมาตรการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และอื่นๆ อาทิ การปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ... ความคืบหน้าการพิจารณาอนุญาตอาชีพที่สงวนสำหรับคนไทย ให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำได้ การส่งเสริม Good Labour Pratices (GLP) และหารือข้อกำหนดมาตรฐาน Seafood Task Force (STF) เป็นต้น สำหรับประเด็นเร่งด่วนที่ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ขอให้กระทรวงแรงงานเร่งพิจารณา ได้แก่ ประเด็นเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างของแรงงานไทย โดยทางสภาหอการค้าฯ มีความเห็นที่ตรงกันเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างของแรงงานไทย แต่ไม่ควรเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งทั้งนี้ต้องเป็นไปตามกลไกการพิจารณาจากคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) นอกจากนี้ การปรับค่าจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน รวมถึงให้กระทรวงแรงงานเร่งส่งเสริมการกำหนดอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้นให้ครบทุกอุตสาหกรรม
รมว.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงานรับทุกประเด็นดังกล่าวที่สภาหอการค้าฯ เสนอ พร้อมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานที่รับผิดชอบในประเด็นต่างๆ ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น