วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ณ ห้องประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์

วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 เวลา 11.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา และนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมปรึกษาหารือออนไลน์เพื่อทบทวนแผนปฏิบัติการปักกิ่ง+25 และพิจารณาร่างคู่มือว่าด้วยเรื่องการออกกฎหมายที่คำนึงถึงมิติทางเพศ (Draft handbook on gender-responsive legislation)ในรูปแบบการประชุมเสมือนจริง (Virtual Meeting)



โดยการประชุมปรึกษาหารือดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้หัวข้อเรื่อง “การออกกฎหมายที่ตอบสนองมิติทางเพศในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามวาระการพัฒนา 2030 และแผนปฏิบัติการปักกิ่งให้บรรลุผล : บทบาทของสมาชิกรัฐสภา” (Making legislation gender-responsive as part of the Agenda 2030 and Beijing implementation: the role of parliamentarians) ซึ่งการประชุมนี้จัดโดยสหภาพรัฐสภาร่วมกับ UN Women
ในการนี้ นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรีของ IPU ได้กล่าวถึงการออกกฎหมายของประเทศไทยในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศภายหลังการใช้แผนปฏิบัติการปักกิ่งมาเป็นระยะเวลา 25 ปีว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันมีบทบัญญัติที่ให้หลักประกันถึงความเท่าเทียมของบุคคลทุกคนและห้ามมิให้เลือกปฏิบัติไม่ว่าด้วยเหตุใดอันรวมถึงการเลือกปฏิบัติทางเพศด้วยซึ่งหลักการนี้ได้รับการรับรองอยู่ในรัฐธรรมนูญก่อนหน้าจนถึงฉบับปัจจุบัน ในช่วงการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขณะนั้นเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรีของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้จัดการระดมข้อคิดเห็นจากองค์กรภาคสังคมและภาคประชาชนผ่านการจัดสัมมนาเพื่อรวบรวมข้อมูลประเด็นการคุ้มครองสิทธิสตรีที่ควรกำหนดในรัฐธรรมนูญรวมทั้งได้ร่วมทำงานกับเครือข่ายในการผลักดันให้มีการระบุหลักการเรื่องการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศ (Gender Responsive Budgeting – GRB) ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การจัดทำงบประมาณได้พิจารณาถึงความต้องการที่แตกต่างกันโดยคำนึงถึงมิติทางเพศ อายุ และเงื่อนไขอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมซึ่งปัจจุบันนี้หลักการนี้ได้ระบุในรัฐธรรมนูญแล้ว นอกจากนี้ความก้าวหน้าของประเทศไทยในเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศคือการบังคับใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีกลไกสำหรับผู้ที่ได้รับการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศสามารถร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หากมีการวินิจฉัยว่ามีการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศผู้ร้องจะได้รับการชดเชยและเยียวยาตามที่กำหนด ขณะนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งของไทยได้แก้ไขระเบียบการแต่งกายของนักศึกษาโดยอนุญาตให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศสภาพได้ ในด้านกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ประเทศไทยได้มีการแก้ไขกฎหมายโดยกำหนดให้ลูกจ้างหญิงและชายได้รับค่าจ้างในอัตราค่าที่เท่าเทียมกันสำหรับงานที่มีลักษณะ คุณภาพ และปริมาณเท่ากัน และลูกจ้างหญิงสามารถลาคลอดได้ 98 วันจากเดิม 90 วัน



เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ การบัญญัติกฎหมายของไทยไม่เพียงให้ความคุ้มครองแก่สตรีในโลกภายนอกเท่านั้น แต่กฎหมายยังคุ้มครองไปถึงสตรีในเรือนจำ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 58 วรรคแรก กำหนดให้เรือนจำจัดเตรียมให้ผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ได้คลอดบุตรในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลนอกเรือนจำ ณ ท้องที่ที่เรือนจำนั้นตั้งอยู่ หากเด็กคลอดในเรือนจำ ห้ามมิให้บันทึกว่าเด็กเกิดในเรือนจำ เพื่อเป็นหลักประกันในสิทธิมนุษยชนของเด็กที่เกิดใหม่นั้นด้วย สุดท้ายนี้ ในส่วนของกลไกรัฐสภาเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ โดยรวมถึงอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนและศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย
ในด้านการจัดทำคู่มือสำหรับสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยการบัญญัติกฎหมายที่ตอบสนองมิติทางเพศนั้น
(a Handbook for Parliamentarians on Making Legislation Gender Responsive) นางสุวรรณีฯ
ได้แสดงความคิดเห็นว่าควรจะได้รวบรวมวิธีปฏิบัติที่ดีและการดำเนินการของแต่ละประเทศในการบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศเพื่อเป็นตัวอย่างการดำเนินการให้กับประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ควรให้มีการนำคู่มือไปแปลเป็นภาษาของประเทศที่นำไปเผยแพร่เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้คู่มือฯ มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
ในตอนท้ายได้แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการระบุแนวคิดเรื่อง GRB บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามที่ที่ประชุมร้องขอ อันเป็นผลจากการร่วมมือกันทำงานระหว่างภาครัฐสภา ภาคองค์กรประชาสังคม องค์กรเอ็นจีโอที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดัน โดยการเชิญนักวิชาการ ผู้หญิงที่มีพลังในสังคม และทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนรวมทั้งพลังความร่วมมือจากบุรุษผ่านการจัดการสัมมนาระดมความคิดเห็น จากนั้นได้จัดทำเป็นข้อเสนอยื่นต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยหลักการเรื่อง GRB กำหนดรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับแรก



ภาพ/ข่าว กฤษรชฏะชญตว์ กฤษพิพัฒนโภคิน ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น