วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ณ ห้องรับรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา

วันที่ 19 สิงหาคม 2563 เวลา 19.00-23.00 นาฬิกา ณ ห้องรับรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยผู้แทนรัฐสภาไทย





ประกอบด้วย นายเกียรติ สิทธีอมร นายวีระกร คำประกอบ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการประชุมประธานรัฐสภาโลก ครั้งที่ 5 (ภาคออนไลน์) (The 5th World Conference of Speakers of Parliament: 5WCSP – virtual segment) จัดโดยสหภาพรัฐสภา โดยมี ประธานรัฐสภา และประธานสภาจาก 112 ประเทศสมาชิกทั่วโลกเข้าร่วม
ในช่วงเริ่มต้นการประชุม Ms. Gabriela Cuevas Barron ประธานสหภาพรัฐสภา Mr. Wolfgang Sabotka ประธานรัฐสภาออสเตรีย (ประเทศเจ้าภาพ) และ Mr. Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ จากนั้น เป็นการเสวนาในแบบดาวอส (Davos-Style discussion) ในหัวข้อ สาธารณสุข สภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจ ต่อด้วยการนำเสนอรายงานการประชุมใน 3 หัวข้อ ได้แก่ (1) การสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศและการเพิ่มพลังของสตรีและให้เป็นจริง : แนวปฏิบัติที่ดีและพันธกรณีภาครัฐสภา





(2) การยกระดับการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการเมืองและรัฐสภา : จากคำพูดสู่การกระทำ และ (3) หนึ่งทศวรรษที่เหลืออยู่สู่การบรรลุวาระแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030
จากนั้นเข้าสู่การอภิปรายแบบเป็นคณะ (panel discussions) ใน 2 หัวข้อ คือ (1) ยกระดับการดำเนินการภาครัฐสภา : ความเร่งด่วนในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (2) การเคลื่อนย้ายของประชากรเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า : ความท้าทาย โอกาส และการแก้ไขปัญหา
ในการนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมนำเสนอรายงาน
ในหัวข้อ “หนึ่งทศวรรษที่เหลืออยู่สู่การบรรลุวาระแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030” ซึ่งเป็นรายงานในหัวข้อที่สาม ร่วมกับ Ms. Tone Wilhelmsen ประธานรัฐสภานอร์เวย์ โดยการรายงานในส่วนของประธานรัฐสภาไทย มีสาระสำคัญ ได้แก่ การสรุปภาพรวมระดับโลกเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของนานาประเทศนับตั้งแต่ปี 2558



เป็นต้นมา ที่แม้จะยังมีความแตกต่างหลากหลายและส่วนใหญ่ยังคงดำเนินไปอย่างล่าช้ากว่าเป้าหมายที่ได้วางไว้ แต่กระนั้น รัฐสภาทั่วโลกภายใต้การสนับสนุนของ IPU สามารถมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อน SDGs ให้บรรลุเป้าหมายในระยะเวลา 10 ปีที่เหลืออยู่ก่อนจะถึงปี ค.ศ. 2030 ด้วยการดำเนินการอย่างจริงจังในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือระหว่างรัฐสภาในบริบทของความท้าทายจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
อนึ่ง นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ และพลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุม 5WCSP ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการนี้ด้วย



ภาพ/ข่าว กฤษรชฏะชญตว์ กฤษพิพัฒนโภคิน ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น