วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2564

ผลงานวิจัยอาจารย์ ม.แม่โจ้ เจ๋ง “ผลิตไฟฟ้าจากการกำจัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์” สร้างพลังงานทดแทน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

ผลงานวิจัยอาจารย์ ม.แม่โจ้ เจ๋ง “ผลิตไฟฟ้าจากการกำจัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์” สร้างพลังงานทดแทน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม"ระบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์" ต้นแบบนวัตกรรมสัญชาติไทยเครื่องแรก ที่ใช้เทคนิคการผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมกับการกำจัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ระบบแรกของประเทศไทย ผลงานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.นัฐพร ไชยญาติ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวโรจน์ ใจสิน อาจารย์ประจำวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้และทีมงาน ได้รับรางวัลระดับดี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ในการพิจารณารางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)รองศาสตราจารย์ ดร.นัฐพร ไชยญาติ หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่า “ผลงานวิจัยชิ้นนี้เกิดจากความต้องการแก้ปัญหาปริมาณขยะติดเชื้อทางการแพทย์ที่มีปริมาณมากในปัจจุบัน โดยไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ อีกทั้งยังสอดรับกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของกระทรวงพลังงานได้อีกด้วย ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยมาประมาณ 5 ปี โดยได้มีการลงนามความความร่วมมือกับบริษัทเอกชน จำนวน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท นำวิวัฒน์การช่าง (1992) จำกัด , บริษัท ทานิตะ แฟบริเคชั่น จำกัด และ บริษัท 89 อินเวนชั่น แอนด์ ไอเดีย จำกัด ในการสนับสนุนทุนวิจัยและส่วนอื่น ๆ ที่ เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยระบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์ เครื่องนี้เป็นเครื่องต้นแบบขนาดเล็ก มีอัตราการเผาไหม้เชื้อเพลิงขยะติดเชื้อประมาณ 250 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ด้วยการนำขยะติดเชื้อทางการแพทย์ที่ผ่านการบำบัดด้วยเทคนิคบด ย่อย และฆ่าเชื้อด้วยความร้อน มาใช้เป็นเชื้อเพลิงและถ่ายเทความร้อนจากกระบวนการเผาไหม้ให้แก่น้ำสะอาด ซึ่งนวัตกรรมการถ่ายเทความร้อนภายในห้องเผาไหม้โดยตรงให้แก่ของไหลสะอาด ถือได้ว่าเป็นต้นแบบเตาเผาขยะเครื่องแรกของประเทศไทยอีกด้วย จากนั้นนำความร้อนที่ได้จ่ายให้แก่วัฏจักรแรงคินสารอินทรีย์เพื่อผลิตไฟฟ้า และทำให้ได้พลังงานไฟฟ้าสุทธิประมาณ 20 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือ 20 หน่วยไฟฟ้า และจากการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า การกำจัดขยะติดเชื้อ 1 กิโลกรัม มีต้นทุนโดยเฉลี่ยตลอดโครงการเพียง 3.185 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมต้องจ้างขนขยะติดเชื้อทางการแพทย์ไปกำจัดกิโลกรัมละประมาณ 10-15 บาท ขึ้นกับระยะทางของโรงพยาบาล รวมทั้งมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยเฉลี่ยตลอดโครงการ 3.302 บาทต่อหน่วย ที่สำคัญสามารถควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”ผลงานวิจัยชิ้นนี้ ยังเคยได้รับรางวัลระดับดีมาก การประกวดข้อเสนอโครงการผลงานนวัตกรรม และรางวัลเหรียญทองการประกวดผลงานนวัตกรรม ประเภทผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อุปกรณ์อัจฉริยะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2563 ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา รวมทั้งได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการ Thailand New Gen Inventors Award 2021 (I-New Gen Award 2021) ในงาน "วันนักประดิษฐ์" ประจำปี 2564 ในชื่อผลงานสิ่งประดิษฐ์ “ระบบผลิตไฟฟ้าวัฏจักรแรงคินสารอินทรีย์จากพลังงานทดแทนแบบผสมผสานของขยะชุมชนและพลังงานแสงอาทิตย์” ในระหว่างวันที่ 26-30 พฤษภาคม 2564 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯทั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จะจัดงานมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2564 ในงาน "วันนักประดิษฐ์" ประจำปี 2564 เพื่อมอบรางวัลอย่างเป็นทางการให้กับผู้ได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ ต่อไปปัจจุบัน “ระบบต้นแบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์” ได้รับการขยายผลต่อยอดเชิงพาณิชย์และใช้งานจริงในโรงพยาบาลและหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง และได้พัฒนาต่อยอดเพื่อใช้กับขยะทั่วไปอีกด้วย ผลงานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นอีกทางเลือกในการช่วยแก้ปัญหาการกำจัดขยะซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะติดเชื้อจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วแล้วทิ้งที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องใช้ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 พร้อมทั้งยังสร้างพลังงานทดแทนและช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย.



ทรงวุฒิ ทับทอง

Cr.ฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.แม่โจ้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น