วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

อานนท์ แสนน่าน" วอนรัฐบาลออกกฎหมายลูก หนุนเกษตรกรปลูกกัญชา แก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ระบาด พร้อมเสนอนำร่อง 4,000 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั่วไทย

"อานนท์ แสนน่าน" วอนรัฐบาลออกกฎหมายลูก หนุนเกษตรกรปลูกกัญชา แก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ระบาด พร้อมเสนอนำร่อง 4,000 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั่วไทย





วันที่13 กุมภาพันธ์ 2564 ผศ.ดร.อานนท์ แสนน่าน ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นเรารักประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจโลกย่ำแย่เพราะเจอพิษโรคไวรัสโควิด-19 สมาชิกหลายท่านสอบถามว่า ทำไมเกษตรกรยังไม่ได้ปลูก "ต้นกัญชา" และ "ต้นกัญชง" กันสักที แม้ว่ากฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกัญชา ออกมาแล้วเกือบจะครบ 1 ปี จึงอยากจะแจ้งให้ทราบครับว่า

"...7 กลุ่มที่จะได้รับการนิรโทษตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกัญชา พ.ศ.2562 ได้แก่ 1.หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย ให้บริการ หรือจัดการเรียนการสอนทางแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกันปราบปรามยาเสพติด หรือสภากาชาดไทย 2.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม สัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้าน 3.สถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางแพทย์ 4.เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตร แต่จะครอบครองได้ ต้องมีหน่วยงานรัฐตามข้อ 1 หรือสถาบันอุดมศึกษา ตามข้อ 3 ร่วมมือและกำกับดูแล 5.ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ 6.ผู้ป่วยเดินทางต่างประเทศ ที่จำเป็นต้องนำกัญชาติดตัว เข้าหรือออกนอกราชอาณาจักร และ 7.ผู้ขออนุญาตตามที่รัฐมนตรีเห็นชอบ ทั้งนี้ ต้องแจ้งการครอบครองที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด..."





และวันนี้หลายพื้นที่ หลายจังหวัด หลายองค์กร กำลังดำเนินการปลูกกัญชาตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกัญชา 2562 ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรภาครัฐ แต่ทุกองค์กรเมื่อปลูกแล้วต้องนำเอา "ต้นกัญชา" และ "ดอกกัญชา" ไปให้กับทาง "โรงพยาบาล" หรือ "สาธารณสุขจังหวัด" และ "กระทรวงสาธารณสุข" แบบไม่ได้จำหน่ายนั้นคือ "ฟรี" ขอย้ำว่า "ฟรี" ทางตนและองค์กรต่างๆ จึงจำเป็นต้องผลักดันให้รัฐบาลมีการ "ออกกฎหมายลูกเพิ่มเติมให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ" สามารถ "นำเข้า" และ "ส่งออก" ได้ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกกัญชาเพื่อส่งออก ไม่เพียงแต่เป็นการ "ปลูกกัญชาเพื่อทางการแพทย์" เท่านั้น

ผศ.ดร.อานนท์ เปิดเผยอีกว่า ด้วยเหตุนี้เอง ตนจึงได้ประสานงานกับทางเครือข่ายต่าง ๆ ผลักดันให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนเงินงบประมาณมาให้เกษตรกรได้สร้างโดมปลูกกัญชาตาม พ.ร.บ.และต้องการให้รัฐบาลร่างกฎหมายลูกเพิ่มเติมให้เกษตรกรสามารถนำเข้าและส่งออกกัญชาได้เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกษตรกรมีรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว สมาชิก และประเทศชาติต่อไป



"...มีข้อมูลว่า พื้นที่ 1 ตารางเมตร สามารถปลูกกัญชาได้ประมาณ 6 - 14 ต้น ดังนั้น ถ้าปลูกกัญชา 1 ไร่ ก็จะปลูกได้ตั้งแต่ 6,400 ต้น ขึ้นไป ลองคำนวณดูว่า ถ้าพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกกัญชาได้ 6,400 ต้น เราจะได้ผลผลิตรวมแล้ว 3,200 กิโลกรัม ราคาซื้อขายในตลาด กิโลกรัมละ 10,000 บาท ก็จะเท่ากับว่า เราจะสามารถสร้างรายได้ได้มากถึง 32 ล้านบาทเลยทีเดียว นอกจากนี้แล้ว กัญชายังสามารถนำไปสกัดเป็นน้ำมันกัญชา ซึ่งตอนนี้ที่อเมริกา ถ้าเป็นน้ำมันที่สกัดจากกัญชาซึ่งปลูกในระบบปิด มีราคากิโลกรัมละ 1 แสนกว่าบาท และถ้าเป็นน้ำมันที่สกัดจากกัญชาซึ่งปลูกในระบบเปิด จะมีราคาประมาณ 5-7 หมื่นบาทต่อกิโลกรัม เป็นตัวเลขที่สวยมาก ๆ” ผศ.ดร.อานนท์ กล่าว

และกล่าวอีกว่า “แล้วประเทศเราละ ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อการเติบโตของกัญชาเป็นอย่างมาก ไม่ต้องมีเงินทุนมากก็ปลูกได้ ไม่ต้องอาศัยโรงเรือนแบบปิด เพราะสามารถปลูกกลางแจ้ง อาศัยแสงปกติ ก็ขึ้นได้ทั้งปี โดยพบว่า ต้นกัญชาไทยเพียงต้นเดียว ซึ่งมีขนาดใหญ่และสูง สามารถออกดอกได้มากถึง 1 กิโลกรัม และสามารถนำมาเป็นกัญชาอัดแท่งขายในตลาด ได้ราคาสูงถึง 10,000 บาท ซึ่งถ้ากัญชาถูกกฎหมาย ก็จะสามารถนำไปขายในตลาดสหรัฐอเมริกา สร้างกำไรได้มากกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว จึงขอวิงวอนภาครัฐ และหน่วยงานที่รับผิดชอบให้โอกาสประชาชน ให้โอกาสเกษตรกรได้ ปลูกกัญชาเพื่อเศรษฐกิจ เกษตรกรไทย ด้วยเถอะครับเพราะจะทำให้ประชาชนได้มีรายได้สูง หายจากความยากจน” ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวในตอนท้าย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น