วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ม.แม่โจ้ ร่วมแถลงข่าวนวัตกรรมแม่โจ้ต้านภัยโควิด-19 และ นวัตกรรมสนับสนุนการป้องกันหมอกควันไฟป่า

ม.แม่โจ้ ร่วมแถลงข่าวนวัตกรรมแม่โจ้ต้านภัยโควิด-19 และ นวัตกรรมสนับสนุนการป้องกันหมอกควันไฟป่า



















วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของจังหวัดเชียงใหม่ ในประเด็น นวัตกรรมแม่โจ้ต้านภัยโควิด-19 และ นวัตกรรมสนับสนุนการป้องกันหมอกควันไฟป่า ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม ซึ่งสำนักประชาสัมพันธ์จังหวัด จัดขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในที่ประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 4 ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่

• ม.แม่โจ้ สร้างผลงาน / นวัตกรรม ร่วมต้านภัยโควิด – 19
1. นวัตกรรมซิลเวอร์นาโน ฆ่าเชื้อโควิด -19
ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค ซิลเวอร์นาโน ผลงานวิจัยของ รศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสารชีวภัณฑ์ “ซิลเวอร์นาโน” ที่มีประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อโรค ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ ผลิตจากโลหะเงินที่มีความบริสุทธิ์ 99.99% ด้วยเทคโนลียีนาโนทำให้มีอนุภาคขนาดเล็กจิ๋ว ซึ่งเป็นเพิ่มประสิทธิภาพในการสัมผัสเชื้อโรคได้ดียิ่งขึ้น ทำให้สามารถฆ่าเชื้อโรค หรือ ป้องกันเชื้อโรค ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้รับการยอมรับในการคำความสะอาดเครื่องมือผ่าตัด รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศทั้งยุโรปและอเมริกา มีความปลอดภัย ไม่มีฤทธิ์กัดกร่อนผิวหนัง และพื้นผิวที่สัมผัส ใช้ได้กับทุกพื้นผิว ทุกพื้นที่ สัมผัสร่างกายได้ มีประสิทธิภาพคงอยุ่ได้นาน 7-14 วัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัย แม่โจ้ Line ID : @mju-ic หรือโทร. 0 5335 4139, 0 5387 5999, 09 3186 8333









2. ผลิตภัณฑ์เม็ดยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรสกัด ด้วยนวัตกรรม BIO-Botanical Dynamic Technology ปลอดภัย ออกฤทธิ์เร็ว
ผลิตภัณฑ์เม็ดยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรสกัด แอนโดร ประกอบด้วยสารสำคัญในสมุนไพรฟ้าทะลายโจร คือ สารออกฤทธิ์สำคัญในกลุ่ม lactone คือ สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) และสารออกฤทธิ์ชนิดอื่น ๆ ทำให้มีฤทธิ์ทางชีวภาพหลากหลาย เช่น ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบในทุกระบบของร่างกาย กระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย ส่งเสริมการต้านไวรัสในร่างกาย เป็นต้น ซึ่งเป็นผลงานวิจัย ของรองศาสตราจารย์ ดร.ฐิติพรรณ ฉิมสุข นักวิจัยและอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับบริษัท เอฟแอนด์บีออแกนิคส์ จำกัด ได้ผลิตและพัฒนาด้วยนวัตกรรมการสกัดที่ปลอดภัยและปราศจากสารเคมี 100 % หรือ BIO-Botanical Dynamic Technology เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับสกัดสมุนไพร ที่มีจุดเด่นคือ สามารถเก็บสารอาหาร สารออกฤทธิ์สำคัญในสมุนไพร ไว้ได้ครบถ้วน ตั้งแต่น้ำมันหอมระเหยและกลิ่น ง่ายต่อการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและออกฤทธิ์ได้เร็ว ผลิตด้วยนวัตกรรมการสกัด ที่ใช้น้ำผึ้งเป็นน้ำกระสายยาในการสกัด ปราศจากเชื้อราและแบคทีเรีย เนื่องด้วยมีการควบคุมผลิตภัณฑ์ให้มีความชื้นต่ำกว่าที่จุลชีพจะเจริญได้
นวัตกรรมดังกล่าวได้รับรางวัลการันตีจากหลายเวที เช่น รางวัลเหรียญทอง นวัตกรรมระดับนานาชาติ TISIAS 2020 ประเทศแคนาดา, รางวัลเหรียญทอง นวัตกรรมระดับนานาชาติ Archimedes 2020 ประเทศ รัสเซีย รางวัลเหรียญทอง KIWIE2018 ประเทศเกาหลีใต้

3. กำจัดหน้ากากอนามัย-ขยะติดเชื้อทางการแพทย์ ได้พลังงานไฟฟ้า ลดมลภาวะ สร้างพลังงานทดแทน
"ระบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์" ต้นแบบนวัตกรรมสัญชาติไทยเครื่องแรก ที่ใช้เทคนิคการผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมกับการกำจัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ระบบแรกของประเทศไทย ผลงานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.นัฐพร ไชยญาติ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวโรจน์ ใจสิน อาจารย์ประจำวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้และทีมงาน โดยได้ลงนามความความร่วมมือกับบริษัทเอกชน จำนวน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท นำวิวัฒน์การช่าง (1992) จำกัด , บริษัท ทานิตะ แฟบริเคชั่น จำกัด และ บริษัท 89 อินเวนชั่น แอนด์ ไอเดีย จำกัด ในการสนับสนุนทุนวิจัยและส่วนอื่น ๆ ที่ เกี่ยวข้อง


ระบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์ เครื่องนี้เป็นเครื่องต้นแบบขนาดเล็ก มีอัตราการเผาไหม้เชื้อเพลิงขยะติดเชื้อประมาณ 250 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ด้วยการนำขยะติดเชื้อทางการแพทย์ที่ผ่านการบำบัดด้วยเทคนิคบด ย่อย และฆ่าเชื้อด้วยความร้อน มาใช้เป็นเชื้อเพลิงและถ่ายเทความร้อนจากกระบวนการเผาไหม้ให้แก่น้ำสะอาด ซึ่งนวัตกรรมการถ่ายเทความร้อนภายในห้องเผาไหม้โดยตรงให้แก่ของไหลสะอาด ถือได้ว่าเป็นต้นแบบเตาเผาขยะเครื่องแรกของประเทศไทยอีกด้วย จากนั้นนำความร้อนที่ได้จ่ายให้แก่วัฏจักรแรงคินสารอินทรีย์เพื่อผลิตไฟฟ้า และทำให้ได้พลังงานไฟฟ้าสุทธิประมาณ 20 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือ 20 หน่วยไฟฟ้า และจากการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า การกำจัดขยะติดเชื้อ 1 กิโลกรัม มีต้นทุนโดยเฉลี่ยตลอดโครงการเพียง 3.185 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมต้องจ้างขนขยะติดเชื้อทางการแพทย์ไปกำจัดกิโลกรัมละประมาณ 10-15 บาท ขึ้นกับระยะทางของโรงพยาบาล รวมทั้งมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยเฉลี่ยตลอดโครงการ 3.302 บาทต่อหน่วย ที่สำคัญสามารถควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม







ปัจจุบัน “ระบบต้นแบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์” ได้รับการขยายผลต่อยอดเชิงพาณิชย์และใช้งานจริงในโรงพยาบาลและหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง และได้พัฒนาต่อยอดเพื่อใช้กับขยะทั่วไปอีกด้วย ผลงานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นอีกทางเลือกในการช่วยแก้ปัญหาการกำจัดขยะซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะติดเชื้อจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วแล้วทิ้งที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องใช้ทุกวัน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19

• แม่โจ้-โมเดล ลดหมอกควันไฟป่า ร่วมด้วยช่วยกันจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างครบวงจรและยั่งยืน

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมสนับสนุนการจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างครบวงจรและยั่งยืน ด้วยการบูรณาการอย่างไร้รอยต่อด้วยองค์ความรู้ทั้งด้านเกษตร เทคโนโลยี นวัตกรรมการบริหารจัดการและประสานความร่วมมือกับนักวิชาการ นักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถในการช่วยสนับสนุนการจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่าได้อย่างครบวงจรและยั่งยืน โดยกระบวนการที่ครอบคลุมตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ร่วมกับเจ้าของพื้นที่ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น บนพื้นฐานของการเกษตรเพื่อยังชีพ เพื่ออยู่รอด และเพื่อยั่งยืนบนพื้นฐานของทรัพยากรและวัฒนธรรม เน้นการพึ่งพาตนเองซึ่งเป็นความถนัดพื้นฐานของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จากภูเขาสู่ทะเล เช่นโครงการแม่แจ่มโมเดล โครงการสารภีโมเดล โครงการสันทรายโมเดล โครงการความมั่นคงด้านอาหารโปรตีนบนพื้นที่สูง โครงการการเรียนรู้เพื่อชีวิตที่ดีงาม (อาหาร ยา ผ้า บ้าน) โครงการดิน น้ำ ป่า ปัญญา อาชีพ โครงการสร้างชุมชนเชิงดอนสร้างสรรค์ โครงการสภาลมหายใจ โครงการหมอต้นไม้ และอื่น ๆ
1. สร้างอาหาร ด้วยการเริ่มที่ต้นเหตุแห่งปัญหา
ด้วยองค์ความรู้ทางด้านการเกษตรเพื่อยังชีพ เพื่ออยู่รอด และเพื่อความยั่งยืน ด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรอัจฉริยะ เกษตรผสมผสาน การเลี้ยงสัตว์น้ำ การเลี้ยงหมู การเลี้ยงไก่ การเลี้ยงแพะ การปลูกป่าสร้างอาชีพ การจัดการน้ำ สร้างป่าเปียกด้วยบ่อน้ำกระจายความชุ่มชื้นในป่า การสำรวจติดตามจุดความร้อน การสำรวจติดตามสภาพพื้นที่เสี่ยงโดย UAV การให้ความรู้แก่ชุมชน สังคม โรงเรียน วัด ในเรื่องการจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่า

2. สร้างอาชีพ ด้วยกิจกรรมการผลิตที่มากขึ้น และการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมนำไปสู่การขายที่ตรงกับความต้องการของตลาด
มุ่งเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้ประชาชนนั้นพึ่งพาตนเองได้ด้วยฐานทรัพยากรของท้องถิ่นตนเอง
2.1 การผลิตทางด้านพืช เช่น การสร้างสร้างป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง เมล็ดพันธุ์พืชอินทรีย์ท้องถิ่น เห็ดป่าลดการเผา ภาชนะ วัสดุปลูกจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร วัสดุปลูกอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก สารบำรุงดินสูตรแม่โจ้
2.2 การผลิตทางด้านสัตว์ เช่น การเลี้ยงปลาด้วยฟางข้าว การเพาะขยายพันธุ์ปลาท้องถิ่น ธนาคารหมู ไก่ไข่พื้นเมือง ไก่เนื้อพื้นเมือง วัวเนื้อเลี้ยงด้วยอาหารข้นหมักเอง อาหารสัตว์อินทรีย์ รวมถึงโรงเชือดอินทรีย์
2.3 การลดพลังงานหรือการใช้พลังงานธรรมชาติ เช่นเทคโนโลยีพลังงานทดแทนลดควัน พลังงานแสงแดด พลังงานลม เป็นต้น
2.4 การแปรรูป การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรโดยใช้พลังงานทดแทน แปรรูปสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด และเพิ่มมูลค่า เช่นสมุนไพรตากแห้ง อบ หรือสกัดสาระสำคัญ
2.5 การสร้างการตลาดหลายช่องทาง สร้างการบริโภคในชุมชน สร้างความเชื่อมโยงการตลาดออนไลน์ สร้างอาชีพใหม่ การหาตลาดใหม่
2.6 การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงอนุรักษ์

3. สร้างอาวุธ (ปัญญา) พัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่องและสนับสนุนการทำงานของส่วนกลาง
มีการเรียนรู้และสะสมองค์ความรู้เพื่อสามารถแก้ปัญหาและยกระดับความรู้สู่การเพิ่มศักยภาพในการผลิต ส่งผลให้มีรายได้ดีและนำไปสู่การอยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมที่ดี
3.1 ต่อปัญญา สนับสนุนชุมชนและโรงเรียนจำนวนมาก สร้างและพัฒนาชุมชนจนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ส่งเสริมเรื่องการศึกษา
3.2 ต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องกรองอากาศอย่างง่าย ราคาถูก ผลิตเองได้ พื้นที่ป่าปอด ต้นไม้ฟอกอากาศ การจัดการขยะตามแนวทาง Zero Waste การผลิตไบโอชาร์ การผลิตน้ำส้มควันไม้ การตรวจวัดและเตือนภัยฝุ่นละอองในอากาศ การสนับสนุนชี้เป้าจุดเกิดหมอกควันไฟป่าให้กับเจ้าหน้าที่โดยใช้ UAV อาสาสมัครป้องกันไฟป่า ลด GHG Emission มากกว่า 10,000 kg CO2-eq/ปี)
3.3 ต่อพันธมิตร มีหน่วยงานพันธมิตรหลากหลายจากภาครัฐและเอกชนกว่า 20 หน่วยงาน เช่น บริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม มณฑลทหารบกที่ 3 โรงเรียน วัด มหาวิทยาลัย ชุมชนกว่า 100 ชุมชน กลุ่มเยาวชนในโรงเรียนลดหมอกควัน สร้างรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน

















การดำเนินการแบบองค์รวมที่มาจากพื้นฐานของทรัพยากรในท้องถิ่นด้วยการพัฒนาและยกระดับให้ทุกอย่างมีคุณค่า ร่วมกันแก้ปัญหาที่ปากท้องด้วยการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เมื่อเข้าใจผลิตได้มากแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าเป็นการสร้างอาชีพ จนกระทั่งชำนาญนำไปสู่การสร้างสมประสบการณ์เป็นองค์ความรู้ที่นำมาใช้เพื่อพัฒนาตอบโจทย์เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยชุมชนเป็นรากฐานด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบ BCG นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) เป็นวิธีการที่แม่โจ้ได้ดำเนินการมาโดยตลอดและต่อไป “แม่โจ้โมเดล: แก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าด้วยการบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย สร้างอาหาร อาชีพ และอาวุธ (ปัญญา) ให้มีสุขภาพที่ดี ไม่ทิ้งภูมิปัญญาและวัฒนธรรม.



ทรงวุฒิ ทับทอง

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ : มหาวิทยาลัยแห่งชีวิต

Cr.ฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.แม่โจ้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น