วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ไทยเฮเกาหลีใต้ ไฟเขียวไทยส่งออกมะม่วงมหาชนกครั้งแรกของประเทศ คาดทำรายได้เพิ่ม จากเดิมส่งออกเพียง 3 ชนิดทำรายได้กว่า 700 ล้านบาทต่อปี

ไทยเฮเกาหลีใต้ ไฟเขียวไทยส่งออกมะม่วงมหาชนกครั้งแรกของประเทศ
คาดทำรายได้เพิ่ม จากเดิมส่งออกเพียง 3 ชนิดทำรายได้กว่า 700 ล้านบาทต่อปี





นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานข่าวดีจากนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในโอกาสที่สาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ได้อนุญาตให้ไทยส่งออกมะม่วงมหาชนกไปยังเกาหลีใต้ได้เมื่อ 23 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา และจะส่งออก ลอตแรกในวันที่ 24 ก.พ. 2564 ถือเป็นผลสำเร็จในการเจรจาของสองประเทศที่ใช้เวลาถึง 9 ปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเกษตรกรไทยที่จะมีตลาดคู่ค้าสินค้าเกษตรตัวใหม่ๆ ทำรายได้เข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ขอฝากเกษตรกรให้ทำสินค้าให้มีคุณภาพที่ดีเพื่อรักษาตลาดส่งออก และจะเป็นโอกาสขยายไปยังตลาดในประเทศอื่นได้อีกในอนาคต





นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2545 ไทยส่งออกมะม่วงไปเกาหลีใต้ได้เพียง 3 ชนิด คือมะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงแรด มะม่วงหนังกลางวัน และเมื่อปี 2554 ทางไทยได้เจรจาเพื่อขอเปิดตลาดมะม่วงมหาชนกกับทางเกาหลีใต้ จนเมื่อ 14 ธค. 63 เกาหลีใต้ได้แจ้งผลการพิจารณาเงื่อนไขนำเข้าผลมะม่วงสดรวมทั้งพันธุ์มหาชนกจากไทยและได้ประกาศข้อกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าอย่างเป็นทางการ โดยให้รมวิชาการเกษตรแจ้งผลการตรวจรับรองสวนมะม่วงเพื่อการส่งออกตามข้อกำหนดของเกาหลีใต้และไทยที่ตกลงร่วมกัน ซึ่งกรมได้ส่งหนังสือและข้อมูลดังกล่าวตอบกลับไปเมื่อ 4 ก.พ.2564 จนได้รับข่าวดีเมื่อ 23 ก.พ. 64 ทั้งนี้เกษตรกรและโรงงานที่จะส่งออกนั้นจะต้องมีการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรตามข้อตกลงร่วมกับเกาหลีใต้ ล็อตแรกประเดิม 100 กิโลกรัม คาดว่าเร็วๆนี้จะมีคำสั่งซื้อเพิ่มเข้ามา



นางสาวชลธิชา รักใคร่ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและกักกันพืช กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่ามะม่วงมหาชนกที่จะส่งออกไปเกาหลีจะต้องผ่านการอบไอน้ำที่อุณภูมิ 40องศาเซลเซียส นาน 20 นาที เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืช ทั้งนี้ผู้ต้องการส่งออกไปเกาหลีต้องขึ้นทะเบียนร่วมในโครงการ ส่งออกมะม่วงอบไอน้ำไปสาธารณรัฐเกาหลี ปัจจุบันมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนแปลงจีเอพีเพื่อส่งออกร่วมในโครงการประมาณ 746 ราย ทั้งนี้ในปี 2563 ไทยส่งออกมะม่วง 3 ชนิดปริมาณ 7,933 ตัน มูลค่าสูงถึง 739,615,892 บาท ปัจจุบันมีผู้ประกอบการส่งออก 63 ราย และโรงงานอบไอน้ำ 12 รายเข้าร่วมโครงการ



**************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น