วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สุราษฎร์ธานี // มรส.เปิดศูนย์ประสานงาน "มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ" หวังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน 82 ตำบล .

ไทเกอร์นิวส์ สุราษฎร์ธานี
ศูนย์ข่าวภาคใต้ตอนบน





วันนี้ (14 ก.พ.64) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดศูนย์ประสานงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ” และปฐมนิเทศผู้ได้รับการจ้างงาน โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร ที่ปรึกษาวิศวกรสังคม สื่อมวลชน และผู้มีเกียรติเข้าร่วมโดยมีการปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างเคร่งครัด







ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส. ประธานในพิธี กล่าวว่ามหาวิทยาลัยฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2564 จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัยฯ จำนวน 82 ตำบล ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศไทยจาก 76 มหาวิทยาลัยที่ร่วมโครงการ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่พัฒนาสร้างคน ให้คนไปสร้างงาน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคม โดยมหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็น System Integrator ให้เกิดการพัฒนาตามปัญหาและความต้องการของชุมชน โดยมีการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา 1,640 อัตรา ให้มีงานทำและฟื้นฟูเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Community Big Data) เป็นระยะเวลา 1 ปี ในพื้นที่บริการของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จํานวน 82 ตำบล ได้แก่จ.สุราษฎร์ธานี 63 ตำบล จ.ชุมพร 7 ตำบล และจ.ระนอง 12 ตำบล จากบุคคลผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

โดยผู้รับการจ้างงานจะได้รับการฝึกทักษะการเป็นวิศวกรสังคมในการทำงานกับชุมชนบนฐานข้อมูลชุมชน เพื่อสร้างนวัตกรรม และสร้างการเรียนรู้ให้กับชุมชนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งโครงการฯ จะมีการทบทวนและปรับปรุงแผนเป็นระยะๆ ให้สอดรับกับความจำเป็นและความต้องการของชุมชน โดยกิจกรรมต่างๆ นั้น จะแบ่งเป็นกรอบใหญ่ ๆ อาทิเช่น กิจกรรมในด้าน

• พัฒนาสัมมาชีพ
• พัฒนาการท่องเที่ยว
• พัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน
• พัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นต้น โดยกิจกรรมในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมนี้ จะดำเนินการผ่านคนที่ได้รับการจ้างงานภายใต้การชี้แนะให้คำปรึกษา จากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัย ผ่านการดำเนินการของศูนย์ประสานงานฯ



ด้าน ดร.พลกฤต แสงอาวุธ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ เปิดเผยว่า โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ และสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ในพื้นที่บริการของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างมหาวิทยาลัย อาจารย์ที่ปรึกษา ผู้ได้รับการจ้างงาน ประชาชน และหน่วยงานภายนอก ดำเนินกิจกรรมโครงการพัฒนาตำบล 5 กิจกรรมประกอบด้วย
1. กิจกรรมการผลิตวิศวกรสังคม
2. กิจกรรมวิศวกรสังคมเก็บรวบรวมข้อมูล
3. กิจกรรมวิศวกรสังคม ระดมความคิดเห็นเพื่อบูรณาการผสานองค์ความรู้
4. กิจกรรมวิศวกรสังคมร่วมกับทุกศาสตร์ของมหาวิทยาลัยและชุมชนลงพื้นที่ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน และการท่องเที่ยวชุมชน
5. กิจกรรมวิศวกรสังคมร่วมสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนแก่ชุมชนทั้ง 82 ตำบล ถือเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนโดยอาศัยความรู้และนวัตกรรมต่างๆจากมหาวิทยาลัย



นอกจากนั้นยังดำเนินการเรื่องการประชาสัมพันธ์โครงการทั้งในการปฏิบัติงานภายในมหาวิทยาลัยและภาคสนามในพื้นที่ที่รับผิดชอบทั้ง 82 พื้นที่ ทางมหาวิทยาลัยได้มีแนวคิด “วิศวกรสังคม” ขึ้นมา ซึ่งคำว่าวิศวกรสังคมนั้น จะสร้างให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์เป็นระบบมีเหตุและผล สามารถลงพื้นที่ในชุมชนเพื่อสร้างความเชื่อมโยงต่อชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรในการพัฒนาประเทศ โดยมีคุณลักษณะหลัก 4 ประการ ได้แก่ มีทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงเหตุและผล เห็นปัญหาเป็นเรื่องท้าทาย มีทักษะในการสื่อสารองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหา มีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยปราศจากข้อขัดแย้ง สามารถระดมทรัพยากรและสรรพกำลังในท้องถิ่นมาร่วมแก้ปัญหา และมีทักษะการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาบนฐานข้อมูลชุมชน โดยประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในท้องถิ่นเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อน สร้างความเชื่อมโยงต่อชุมชนในการสร้างสรรค์ พัฒนาท้องถิ่น และเพิ่มศักยภาพประชาชนให้สังคมเป็นสุขอย่างยั่งยืน ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงเปิดศูนย์ประสานงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T SRU เพื่อเป็นการประสานงานในการลงพื้นที่ดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคม ทั้ง 82 ตำบล โดยเฉพาะมิติของผลิตภัณฑ์ชุมชนและการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งเป็นรายได้หลักของชุมชนท้องถิ่นตามความต้องการของชุมชน อีกทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาความอยากจนอย่างยั่งยืน โดยอาศัยความรู้และนวัตกรรมต่าง ๆ จากมหาวิทยาลัยต่อไป .

ข่าว : ภูรดา วิชัยดิษฐ์
ที่มา : ศูนย์ประสานงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น