พ่อเมืองศรีสะเกษค้นผ้าอัตลักษณ์ศรีสะเกษ เน้นช่วยชาวบ้านผลิตได้ทั่ว ราคาเข้าถึงได้ทุกคน
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ห้องประชุมสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้เป็นประธานประชุมพิจารณาลายผ้าอัตลักษณ์จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนายธงชัย เจริญพาณิชย์กุล รองผู้ว่าราชการศรีสะเกษ นายประหยัด ถิลา วัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ และดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวศรีสะเกษ นำหัวหน้าส่วนราชการทั้งภาครัฐและเอกชน กลุ่มผู้ทอผ้าและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า อยากให้ศรีสะเกษมีผ้าอัตลักษณ์ที่เป็นผ้าของศรีสะเกษชัดเจน เพื่อจะได้มีการสวมใส่ผ้าศรีสะเกษในการต้อนรับรับแขกบ้านแขกเมืองในเชิงสัญลักษณ์ เช่นที่จังหวัดกาฬสินธุ์มีผ้าแพรวา จังหวัดอุบลฯมีผ้าลายกาบบัว จังหวัดศรีสะเกษที่ส่งเสริม "ธานี..ผ้าศรีแส่ว" ก็อยากมีชื่อเรียกผ้าของจังหวัดศรีสะเกษนอกเหนือจากการส่งเสริมผ้าเบญจศรี
หากมีผ้าศรีสะเกษก็จะสามารถส่งเสริมชาวบ้านให้ผลิตได้ทั่วถึงกัน ขอเน้นการค้นหาผ้าศรีสะเกษ ต้องคำนึงว่าผ้านี้ทุกภาคส่วนสามารถสวมใส่ได้ ทั้งราคาและการเข้าถึง บางชิ้นอาจจะมีชื่อเรียกลายผ้า แต่ผลิตไม่ได้มากและราคาแพง จึงอยากให้เป็นกลางๆ โดยผู้ผลิตผ้าได้ผลิตทั่วถึงกัน ไม่ใช่ผลิตได้เฉพาะรายใดรายหนึ่งเท่านั้น
นายธงชัย เจริญพาณิชย์กุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษกล่าวว่า ความเห็นของคณะที่มาร่วมประชุมทั้งภาครัฐและเอกชนตรงกันว่าต้องการให้ศรีสะเกษยึดถือลายลูกแก้วเป็นผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัด ที่จริงผ้าลายลูกแก้วเป็นหนึ่งในผ้าที่เคยประกวดที่ภูพาน ในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จแปรพระราชฐานประทับแรมพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร โดยการประกวดระดับภาคห้วงเดือนตุลาคม 2551 ผ้าไหมที่ส่งเข้าประกวด 12 ชนิด ประกอบด้วยผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมมัดหมี่ข้อ ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าไหมพื้นเรียบ ผ้าไหมแพรวา ผ้าขิดไหม ผ้าไหมลายลูกแก้ว ผ้าไหมลายสร้างสรรค์ ผ้าไหมลายเกล็ดเต่า ผ้าไหมโสร่งหางกระรอก ผ้าไหมพื้นเรียบชนิดบาง และผ้าไหมพื้นเรียบทอจากไหมเปลือกนอก และ ผ้าไหมลายลูกแก้ว ได้รับรางวัลชมเชย และเป็นผ้าที่จังหวัดศรีสะเกษได้ส่งเสริมมานาน
นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า สมัยที่เป็นประธานหอการค้า เคยสนับสนุนให้หัวหน้าส่วนในจังหวัดใส่เสื้อเหลืองลายลูกแก้วทุกวันศุกร์ โดยหอการค้าได้เปิด”บริษัทศรีสะเกษร่วมค้า” ซื้อผ้าจากแม่บ้านที่ทอแล้วเอามาตัดจำหน่ายในราคาไม่แพง อยากฝากว่าหากจะทำลวดลายบนผ้าลายลูกแก้ว อย่าทำมากจนดูเยอะ ขอให้ทำเป็นเส้นนูนหรือทำสีให้สวยงาม
ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวศรีสะเกษกล่าวว่า ดีใจที่ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยคิดค้นผ้าเอกลักษณ์ให้ได้ข้อสรุป ภาคท่องเที่ยวได้ใช้ผ้าลายลูกแก้ว และส่งเสริมชาวบ้านโดยให้ใช้ดอกลำดวนทอแซมในผ้าลายลูกแก้ว แต่ชาวบ้านทำไม่ได้เพราะต้องใช้ต้นทุนสูงทำฟืมหลายอัน จึงไปขอให้ชุมชนทอผ้าที่จังหวัดกาฬสินธุ์และขอนแก่นช่วยทำให้ และได้นำผ้าสัญลักษณ์เมืองดอกลำดวน ถวายแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เสด็จมาจังหวัดศรีสะเกษเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ขอสนับสนุนให้จังหวัดใช้ผ้าลายลูกแก้วเป็นผ้าศรีสะเกษ โดยแทรกดอกลำดวนบนผ้าลายลูกแก้วด้วย จะได้เป็นสินค้าที่ระลึกของจังหวัดด้วย
นายประหยัด ถิลา วัฒนธรรมจังหวัดกล่าวว่าได้รับมอบหมายให้ไปประชุมคณะทำงานและค้นหาเรื่องราวมาอ้างอิงเพิ่มเติม โดยจะสรุปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษทราบก่อนสิ้นเดือนนี้
***********
ข่าว /ภาพ ... บุญทัน ศรีสะเกษ
วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
พ่อเมืองศรีสะเกษค้นผ้าอัตลักษณ์ศรีสะเกษ เน้นช่วยชาวบ้านผลิตได้ทั่ว ราคาเข้าถึงได้ทุกคน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น