วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

กาฬสินธุ์จิตอาสาทำความดีด้วยหัวใจป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน

กาฬสินธุ์จิตอาสาทำความดีด้วยหัวใจป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน
จังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และจิตอาสา ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์เราทำความดีด้วยหัวใจ เก็บเศษใบไม้ ลดเชื้อเพลิง ป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อปลูกจิตสำนึกรักษาระบบนิเวศน์ และลดการเผาไหม้ ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)





ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชน
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่บริเวณผาเสวย ต.ผาเสวย อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดกรวยถวายราชสักการะ และกล่าวคำปฏิญาณร่วมใจหยุดยั้งการเผาป่า ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องใจโอกาสจัดกิจกรรมรณรงค์ในรูปแบบจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ เก็บเศษใบไม้ ลดเชื้อเพลิง ป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ พ.อ.เรืองพงษ์ วงศ์ศรีสุข รองกอ.รมน.กาฬสินธุ์ นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายประดิษฐ สุดชาดา ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อมฯ นายนิยม กิตติวงษ์ตระกูล ผอ.ส่วนทรัพยากรธรรมชาติ ฯ นายธนทร ศรีนาค ปภ.จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และจิตอาสา ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
จากนั้น นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ นำผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกิจกรรมรณรงค์ป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ในรูปแบบกิจกรรมจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ โดยร่วมกันทำเสวียนเก็บรวบรวมใบไม้และวัชพืชเพื่อลดการเผา และยังสามารถทำปุ๋ยหมักใช้ในครัวเรือน พร้อมร่วมกันเก็บเศษใบไม้ ทำแนวกันไฟ ลดเชื้อเพลิง ทั้งนี้ เพื่อปลูกจิตสำนึกรักษาระบบนิเวศน์ และลดการเผาไหม้ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)



นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าปัจจุบัน จ.กาฬสินธุ์ มีพื้นที่ป่าไม้คงเหลือ 463,584.52 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง เมื่อหมดฤดูฝนพบว่าป่าไม้จะมีสภาพแห้งแล้ง ทำให้ต้นไม้ในป่าต้องปรับตัวทิ้งใบร่วง เกิดการสะสมเป็นเชื้อเพลิงจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดไฟป่า และมีปัญหาไฟป่าเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
นายอัครพงษ์กล่าวอีกว่า ตามสถิติสถานการณ์ไฟป่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาพบว่าเกิดไฟป่า 41-67 ครั้ง พื้นที่ป่าไม้ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าเฉลี่ย 585 ไร่/ปี คาดว่ามีปริมาณฝุ่นละอองในอากาศที่เกิดขึ้นจากการไฟไหม้ป่า ประมาณ 5.425 ตัน/ปี สาเหตุของการเกิดไฟไหม้ป่ามักเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น เผาป่าเพื่อหาของป่า เพื่อล่าสัตว์ หรือเพื่อให้ผักหวานป่าแตกใบ นอกจากนี้ยังความเชื่อที่ว่าหากป่าถูกเผาเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน จะทำให้พื้นที่ป่ามีเห็ดป่าเกิดขึ้นสูงกว่าป่าไม่ถูกไฟเผา จึงทำให้มีการลักลอบเผาป่า นอกจากนี้การเผาพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านที่อยู่รอบพื้นที่ป่าไม้ อาจลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่าไม้ ทำให้เกิดไฟไหม้าป่าสร้างความเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติและเป็นมลพิษทางอากาศ หรือฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) อีกด้วย

“ในปีพ.ศ.2563 ที่ผ่านมาพบว่าพื้นที่ป่าไม้ในเขตพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เกิดเหตุไฟไหม้ป่าซึ่งสามารถตรวจจับจุดความร้อน (Hot Spot) จำนวน 47 จุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานด้านป้องกันรักษาป่าโดยให้สามารถลดจำนวนจุดความร้อนลงให้ได้ร้อยละ 20 จากปีที่ผ่านมา จึงมุ่งเน้นให้มีการจัดทำเสวียนเก็บรวบรวมใบไม้และวัชพืชเพื่อลดการเผา และยังสมารถทำปุ๋ยหมักใช้ในครัวเรือน เป็นการจัดการเก็บเศษใบไม้ในพื้นที่ป่าไม้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดไฟป่า และลดมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จึงร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ สำนักงาน ปภ.จ.กาฬสินธุ์ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายปกครอง องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น จิตอาสา รวมทั้งเครือข่าย ทสม.จ.กาฬสินธุ์ ในการจัดกิจกรรมรณรงค์ในรูปแบบจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ เก็บเศษใบไม้ ลดเชื้อเพลิง ป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันดังกล่าว” นายอัครพงษ์กล่าว
ด้านนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด คือมั่งคั่งด้วยเกษตรปลอดภัย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้นเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายดังกล่าวโดยสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีคุณภาพอากาศที่ดี และลดการปลอดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามกระแสในสังคมโลกซึ่งมุ่งเน้นเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ จึงจำเป็นต้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่คงอยู่ โดยเฉพาะผืนป่าภูพานซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องฟอกอากาศลมหายใจของชาวกาฬสินธุ์

นายทรงพลกล่าวอีกว่าจากข้อมูลของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ระบุว่าเกิดไฟไหม้ป่าทุกปี นอกจากจะก่อให้เกิดมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชนแล้ว ยังทำให้ทรัพยากรป่าไม้เสื่อมโทรมลง ทั้งนี้ต้นไม้ 1 ต้น สามารถดักจับอนุภาคมลพิษฝุ่นควันไอพิษต่างๆได้ 1.4 กิโลกรัม/ปี ยังปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนที่เราใช้หายใจได้ถึง 200,000 -250,000 ลิตรต่อปี และต้นไม้ยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดโลกร้อนอีกด้วย ดังนั้นกิจกรรมการรณรงค์ฯ ในวันนี้ จึงเป็นการรวมพลังของทุกภาคส่วนในการปกปักษ์รักษา เพื่อให้ต้นไม้ในผืนป่าภูพานให้ทำหน้าที่เต็มตามศักยภาพ และตัดวงจรการเกิดไฟป่า ซึ่งเป็นสาเหตุของคุณภาพอากาศของ จ.กาฬสินธุ์ ที่เสื่อมโทรมลง ทั้งนี้ เพื่อปลูกจิตสำนึกรักษาระบบนิเวศน์ และลดการเผาไหม้ ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น