วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
สุราษฎร์ธานี // มรส. ยกระดับเศรษฐกิจแปรรูปเครื่องแกง KAMINYA ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ เร็ว ง่าย สะดวก สร้างนวัตกรรมอาหาร สร้างรายได้สู่ครัวเรือนท้องถิ่น .
ไทเกอร์นิวส์ สุราษฎร์ธานี
ศูนย์ข่าวภาคใต้ตอนบน
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาผลิตเครื่องแกงสู่นวัตกรรม และเทคโนโลยีแปรรูปอาหารปลอดภัย พร้อมยกระดับเศรษฐกิจในชุมชน สร้างนวัตกรรมอาหารสร้างรายได้สู่ครัวเรือน แปรรูปผลิตภัณฑ์เครื่องแกง เป็นแบบก้อน ผง แผ่น กึ่งแห้ง หวังตอบโจทย์วิถีผู้บริโภคยุคใหม่ เร็ว ง่าย สะดวก โดยมี ผศ.ดร.อุราภรณ์ เรืองวัชรินทร์ ผศ.ดร.พราวตา จันทโร และดร. อรุโณทัย เจือมณี อาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมอาหารและโภชนาการคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ เมื่อวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2564 ณ อาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร
ผศ.ดร.สุกัญญา ไหมเครือแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มรส. เปิดเผยว่า ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มีภารกิจหลัก ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ให้กับกลุ่มเป้าหมาย และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ โดยมุ่งเน้นพัฒนาภูมิปัญญาระดับท้องถิ่นในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน สู่ความเป็นสากล สนับสนุนการนำผลงานวิจัยที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ไปต่อยอดในการประกอบธุรกิจ ให้บริการงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ด้านการเป็นที่พึ่งของชุมชน โดยกำหนดเป้าหมายด้านการพัฒนาส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนมีคุณภาพได้รับมาตรฐาน ผลักดันสู่ตลาดกระจายสินค้าไปยังสถานที่ที่หลากหลายและต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้
จากหลักการดังกล่าวนี้ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ จึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาผลิตเครื่องแกงสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีแปรรูปอาหารปลอดภัยร่วมกับอาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีแนวคิดว่า เครื่องแกงปักษ์ใต้มีเอกลักษณ์โดดเด่นนานาชนิด โดยเฉพาะแกงส้มจัดเป็นอาหารพื้นเมืองของภาคใต้ที่ได้รับความนิยม เดิมมีการผลิตเครื่องแกงเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน แต่ปัจจุบันวิถีความเป็นอยู่ของคนนิยมความสะดวกสบายและรวดเร็วต่อการบริโภค จึงมีการผลิตเครื่องแกงบดสำเร็จรูปจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้น แต่ปัญหาของเครื่องแกงบดสำเร็จรูป คือ ผลิตภัณฑ์มีอายุการเก็บรักษาสั้นเนื่องจากเครื่องแกงส่วนใหญ่มีความชื้นสูง ซึ่งมาจากวัตถุดิบที่ใช้ผลิต ได้แก่ พริกสด หอม กระเทียม เป็นต้น ประกอบกับกระบวนการผลิตเครื่องแกงโดยทั่วไปไม่มีขั้นตอนการฆ่าเชื้อ ทำให้เกิดการเสื่อมเสียจากจุลินทรีย์ได้ง่าย เพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์น้ำพริกแกงมีอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้นโดยคงมีสี กลิ่น รสของน้ำพริกแกงที่ดี ใกล้เคียงน้ำพริกแกงสด ได้พัฒนารูปแบบของเครื่องแกงและผลิตภัณฑ์จากเครื่องแกง เพื่อทำให้เครื่องแกง มีรูปแบบที่หลากหลายและเก็บรักษาหรือทำการขนส่งได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยก็ได้ผลิตเครื่องแกงส้มภายใต้แบรนด์ KAMINYA .
ข่าว : ภูรดา วิชัยดิษฐ์
ที่มา : สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี .
www.sru.ac.th
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น