วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เกษตรกรเฮ เตรียมปลูกกัญชา หลังกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ทำ MOU กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสถาบันการศึกษา ตั้งเป้าผลิต 3,500 กก.ต่อเดือน

เกษตรกรเฮ เตรียมปลูกกัญชา หลังกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ทำ MOU กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสถาบันการศึกษา ตั้งเป้าผลิต 3,500 กก.ต่อเดือน





"เกษตรกรเตรียมปลูกกัญชา" หลังกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ทำ MOU กับวิสาหกิจชุมชน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจเพื่อสังคม และมหาวิทยาลัยต่างๆ หวังผลผลิต 3,500 กก.ต่อเดือน

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ณ เครือข่ายเกษตรรักสันติ ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ผศ.ดร.อานนท์ แสนน่าน ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นเรารักประเทศไทย พ.ท.ดร.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นเรารักประเทศไทย นายศักดิ์ชาย พรหมโท ประธานผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) แห่งประเทศไทย และ ประธานเครือข่ายฯ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ประชุมร่วมเพื่อคัดสรรกลุ่มเกษตรเข้า "โครงการปลูกกัญชาและกัญชงเพื่อการแพทย์"



ผศ.ดร.อานนท์ แสนน่าน ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นเรารักประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากมีการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์เพื่อเศรษฐกิจสุขภาพ และพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการผลิตกัญชาทางการแพทย์ ระหว่างกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กับ วิสาหกิจชุมชน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจเพื่อสังคม และมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ผ่านมาก็ทำให้กลุ่มเกษตรกรเริ่มมีความหวังกับการปลูกกัญชาและกัญชงเพื่อทางการแพทย์ เพราะกระทรวงสาธารณสุขโดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ดำเนินการทำความร่วมมือในการผลิตกัญชา ทางการแพทย์กับภาคส่วนต่างๆ อาทิเช่น เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคมและมหาวิทยาลัยซึ่งมีศักยภาพ เพื่อก่อให้เกิดการขับเคลื่อนใหม่ขึ้นในประเทศ ที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนา เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ซึ่งกัญชาทางการแพทย์ ถือเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ที่รวมกันในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม ทั้งในส่วนที่ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ ตามกฎหมาย ที่สามารถจำหน่ายเป็นสมุนไพร ใช้ตามภูมิปัญญาในการประกอบอาหารในครัวเรือน หรือจำหน่ายให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ ผลิตยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร เครื่องสำอาง หรือใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ สำหรับในส่วนที่ยังเป็นยาเสพติด ให้โทษนั้น ควรนำมาพัฒนาต่อยอดทางการแพทย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน



ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวอีกว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ผลิตตำรับยากัญชาทางการแพทย์ เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการพัฒนาทางการแพทย์อีกรูปแบบหนึ่งได้แก่ น้ำมันกัญชาตำรับเมตตาโอสถ ซึ่งพัฒนามาจากสายพันธ์กัญชาในประเทศที่มีสาร THC ในปริมาณสูง และน้ำมันกัญชาตำรับการุณย์โอสถ ที่พัฒนามาจากสายพันธุ์กัญชาที่มีสาร CBD ในปริมาณที่สูง โดยทั้งสองตำรับนี้ได้รับอนุญาตจาก คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งได้อนุญาตให้แพทย์สามารถใช้ได้ในกรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย เช่น ใช้ในผู้ป่วยระยะประคับประคอง ที่มีอาการอาการปวดประสาท ลดความทุกข์ทรมานจากความผิดปกติในการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ลดอาการชักเกร็งในผู้ป่วยโรคลมชัก และลดรอยโรค และลดการกำเริบของโรคในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน



ซึ่งยา 2 ตำรับนี้ มีความต้องการใช้จากโรงพยาบาลทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจของกรม พบว่า จะต้องใช้ปริมาณของช่อดอกกัญชาแห้ง สำหรับการผลิตยาทั้งสองตำรับ ไม่น้อยกว่า เดือนละ 3,500 กิโลกรัม และมีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม หรือมหาวิทยาลัย ในการร่วมมือผลิตกัญชาทางการแพทย์ให้เพียงพอกับความต้องการ ของประชาชน ซึ่งจะสามารถช่วยแก้ปัญหากัญชาที่อยู่นอกระบบที่และมีกัญชาทางการแพทย์ ภายใต้กฎหมายทดแทนเป็นการให้โอกาสประชาชน เข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐานในการรักษาโรค นั่นถือได้ว่าเป็นข่าวดีของเกษตรกรที่จะปลูกกัญชาส่งให้ทางกรมฯ และพัฒนามาเป็นพืชเศรษฐกิจไทยสมกับคำว่า "กัญชาทองคำเขียว"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น