วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สมาชิกวุฒิสภา ร่วมประชุมเครือข่ายรัฐสภาโลกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD Global Parliamentary Network Meeting) หัวข้อ “การฟื้นตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

สมาชิกวุฒิสภา ร่วมประชุมเครือข่ายรัฐสภาโลกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD Global Parliamentary Network Meeting) หัวข้อ “การฟื้นตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์



วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 19.30-20.30 นาฬิกา นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมประชุมเครือข่ายรัฐสภาโลกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD Global Parliamentary Network Meeting) ในหัวข้อ “การฟื้นตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลง” (A Transformative Recovery) ตามคำเชิญของนางสาว Silvana Koch-Mehrin ประธานองค์กรผู้นำสตรีทางการเมือง (Women Political Leaders - WPL) ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ณ ห้องประชุมสำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ ชั้น 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
การประชุมนี้จัดขึ้นโดยเครือข่ายรัฐสภาโลกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development) ร่วมกับสมัชชารัฐสภาขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO Parliamentary Assembly) และองค์การผู้นำสตรีทางการเมือง (Women Political Leaders: WPL) เพื่อแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับแนวทางการเสริมสร้างการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจ และสุขภาพอย่างเข้มแข็งและเป็นธรรมภายหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 (โควิด-19) โดยมี นาย Anthony Gooch ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ OECD (Director of Public Affairs and Communications, OECD)



เป็นประธานการประชุม
ในช่วงการเสวนากับ นาย Angel Gurría เลขาธิการ OECD ในหัวข้อ “การสร้างฉันทามติใหม่เพื่อความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” (Forging a New Consensus for Economic, Social and Environmental Progress) นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และมาตรการในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของประเทศไทย เช่น การประกาศใช้พระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ช่วยเหลือผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบ และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และได้กล่าวแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจัยของความสำเร็จในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย คือ ความมีวินัยของประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรค รวมไปถึงระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1,050,000 คน



กระจายตัวอยู่ในชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศทำหน้าที่สื่อข่าวสารสาธารณสุขระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนในหมู่บ้าน เฝ้าระวังป้องกันปัญหาสาธารณสุขในหมู่บ้าน และตรวจค้นหาเชิงรุกผู้มีแนวโน้มจะติดเชื้อเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง
ในการนี้ นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้ตั้งคำถามไปยัง OECD เกี่ยวกับมาตรการและแนวทางของประชาคมระหว่างประเทศในการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประชาชนทุกคนอย่างเพียงพอ รวมถึงข้อเสนอแนะแนวทางของ OECD ในการบริหารจัดการ กระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ นาย Angel Gurría เลขาธิการ OECD ชื่นชมความสำเร็จของประเทศไทย พร้อมกล่าวเสริมว่าระบบอาสาสมัครแสดงถึงภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ การมีวินัยของประชาชน ประกอบกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของภาครัฐเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง



ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น