พ่อเมืองเชียงใหม่ยกทีมลงพื้นที่ดูแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5 มั่นใจลดความเสียหายพื้นที่ป่าได้ถึง 5 เท่า หากมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการในพื้นที่ได้ตามแผนวันที่ 16 ก.พ. 64 เวลา 13.00 น. นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และคณะ ลงพื้นที่บ้านทุ่งแดง หมู่ที่ 1 ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดูการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในป่าบริเวณเส้นทางขึ้นวัดพระธาตุผาจองชัยมงคล ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยมี นายนุชิต จันทาพูน หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าศรีลานนา และเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเดินทางลงพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ได้ใช้โดรนในการตรวจสอบพื้นที่เกิดไฟไหม้ป่า เพื่อให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีมาตรวจสอบพิกัดในการเกิดไฟป่า เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าไปดับไฟของเจ้าหน้าที่ที่สามารถเดินทางเข้าไปได้อย่างรวดเร็วนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ปรับแนวทางที่จะบริหารจัดการปัญหาเรื่องหมอกควันไฟป่า นำเทคนิคการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากไฟป่า ถ้าเราสามารถบริการจัดการเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดไฟที่ลุกลามเป็นวงกว้าง การลดจุดฮอตสปอร์ตลงไป จุดที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิด PM 2.5 ก็จะลดลง เพราะฉะนั้น แนวทางในปีนี้ก็พยายามที่จะบริหารจัดการเชื้อเพลิง ป้องกันไม่ให้เศษไม้ ใบไม้ทั้งหลาย ลุกลามเป็นพื้นที่ที่ถูกเพลิงไหม้ การเสียหายขนาดใหญ่ การบริหารจัดการเชื้อเพลิงผสมผสานกับการทำแนวกันไฟ และการขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนที่ทำกินในพื้นที่เขตป่า หรือแนวที่อยู่ติดกับป่า ก็มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันในภาพรวมทางโซนใต้ที่มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. จนถึงปัจจุบัน ในพื้นที่ที่เตรียมบริหารจัดการเชื้อเพลิงประมาณแสนกว่าไร่ เมื่อบริหารจัดการเชื้อเพลิงก็สามารถควบคุมพื้นที่ที่เชื้อเพลิงเหลือแค่ 70,000 ไร่ ถ้าประเมินกับเจ้าของพื้นที่ที่ดูแลป่า ก็จะสามารถป้องกันพื้นที่ได้ถึง 5 เท่า เรายอมสละพื้นที่ส่วนหนึ่ง เพื่อรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ไว้ และแนวทางการศึกษาร่วมกันกับประชาชนและผู้ที่อยู่ในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ที่ต่อสู้กับสถานการณ์ไฟป่าในแต่ละปี ร่องไฟหรือแนวไฟไปทางไหน แล้วทำให้ในการเข้าไปดับไฟมีปัญหาไม่สามารถขึ้นไปดับไฟได้ ก็เข้าไปกันพื้นที่ตรงนั้น แล้วพื้นที่ที่มีความเหมาะสมก็ใช้วิธีการทำแนวกันไฟตามปกติ และพื้นที่ที่มีความจำเป็นที่ต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิงก็ใช้วิธีการจัดการตามระบบ ในช่วงประมาณเดือน มี.ค. - เม.ย. เป็นช่วงที่ป่าของจังหวัดเชียงใหม่ค่อนข้างแห้ง และเสี่ยงเกิดไฟไหม้ป่าได้สำหรับกรอบระยะเวลาในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ก็ต้องมีการบริหารจัดการในพื้นที่ว่าจะบริหารอย่างไร ตั้งแต่ประชาชน และเจ้าหน้าที่ต่างๆ ในพื้นที่ ควรทำปฏิทินว่าจะบริหารจัดการอย่างไร แล้วนำข้อมูลเสนอมายังจังหวัดเพื่อพิจารณา ในส่วนนี้ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ให้คำปรึกษาหารือ มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ผศ.ดร.ชาคริต โชตอมรศักดิ หัวหน้าคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ามาช่วยภูมิศาสตร์ในพื้นที่ มาบูรณาการแล้วดูปฏิทินที่เขาเสนอมาว่าสอดคล้องกับสภาพอากาศในช่วงนั้นอย่างไร หากดูแล้วทุกอย่างลงตัวก็สามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงได้ ถ้าหากอากาศไม่ระบาย และมีกระแสลมจากพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงเข้ามา ก็คงต้องชะลอการบริหารจัดการเชื้อเพลิง บางครั้งต้องมองระยะยาว ถ้าในปีนี้ฝนจะมาเป็นช่วงๆ ก็ต้องดูว่าสภาพอากาศเป็นอย่างไร หากบริหารจัดการเชื้อเพลิงได้ และไม่ทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนก็สามารถทำได้ โดยปัจจุบันได้ใช้สถิติ ความรู้ทางวิชาการ เจ้าหน้าที่ และเทคโนโลยี นำมาวิเคราะห์ให้เข้ากับสถานการณ์ว่าควรบริหารจัดการในช่วงไหนอย่างไร.
https://youtu.be/iaofeU9gHns
ทรงวุฒิ ทับทอง
cr.ปชส.ชม.
วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
(มีคลิป) "พ่อเมืองเชียงใหม่' ยกทีมลงพื้นที่ดูแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5 มั่นใจลดความเสียหายพื้นที่ป่าได้ถึง 5 เท่า หากมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการในพื้นที่ได้ตามแผน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น