วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภาและกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา ได้เข้าร่วมการประชุมเสมือนจริง (virtual meeting) ของคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา สมัยที่ 285 วาระที่ 3

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 20.00-23.00 นาฬิกา นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภาและกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา ได้เข้าร่วมการประชุมเสมือนจริง (virtual meeting) ของคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา สมัยที่ 285 วาระที่ 3 (The 285th session of the Executive Committee)



ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาระเบียบวาระต่อเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการบริหารฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มกราคม 2564 โดยมี คณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภาเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 15 คน ประกอบด้วย กรรมการบริหารฯ จากแคนาดา จีน ชาด ชิลี เซอร์เบีย สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ไทย อุรุกวัย ซิมบับเว
อุซเบกิสถาน ปากีสถาน เซเนกัล ยูกันดา และประธานการประชุมคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี โดยมี นาย Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภาทำหน้าที่ประธานการประชุมฯ รวมทั้งเลขาธิการสหภาพรัฐสภา เข้าร่วมการประชุมด้วย
ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาและรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา สมัยที่ 285 เมื่อวันที่ 18 และ 22 มกราคม 2564 รวมทั้งได้พิจารณาระเบียบวาระต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา ประกอบด้วย การขยายสมาชิกภาพของสหภาพรัฐสภาทั่วโลก (Achieving universal membership)



ที่ประชุมฯ ได้รับฟังการนำเสนอเกี่ยวกับการขยายสมาชิกภาพของสหภาพรัฐสภาซึ่งเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่ 5 ของสหภาพรัฐสภา ในการนี้ นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภาและกรรมการบริหารฯ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านกระดานสนทนา (chat) ว่า “ตนเห็นด้วยกับการขยายจำนวนสมาชิกภาพซึ่งจะช่วยให้สหภาพรัฐสภาเป็นองค์กรรัฐสภาระดับโลกอย่างแท้จริง การมีสมาชิกภาพเพิ่มขึ้นจะทำให้สหภาพรัฐสภามีความเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาความท้าทายระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเศรษฐกิจและสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การทำให้สภาคองเกรสกลับมาเป็นสมาชิกสหภาพรัฐสภายังช่วยดึงดูดความสนใจจากทั่วโลกและทำให้องค์กรเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ความร่วมมือของภาครัฐสภามีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนผลประโยชน์และทำหน้าที่เพื่อประชาชน จึงจำเป็นต้องประกันว่ารัฐสภาสมาชิกจะมีส่วนร่วมในการดำเนินงานและกิจกรรมของสหภาพรัฐสภาเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ไปข้างหน้าตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้”
จากนั้น ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาสถานการณ์ในประเทศเมียนมา โดยได้มอบหมายให้เลขาธิการสหภาพรัฐสภาติดตามสถานการณ์ของประเทศเมียนมาอย่างใกล้ชิดและรายงานให้ที่ประชุมฯ รับทราบ รวมทั้งยังได้พิจารณาสถานการณ์การเลือกตั้งของประเทศเวเนซุเอลา



ซึ่งมีกรรมการบริหารฯ หลายท่านได้ร่วมอภิปราย อาทิ อุรุกวัย สวีเดน จีน ซิมบับเว ปากีสถาน แคนาดา โดยที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภาจัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาในมุมมองความถูกต้องตามกฎหมายของรัฐสภาชุดใหม่และการรับรองผลการเลือกตั้ง เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารฯ พิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป
ที่ประชุมฯ ยังได้รับฟังการนำเสนอบันทึกความเข้าใจระหว่างสหภาพรัฐสภาและสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างสององค์กร และส่งเสริมความเป็นพันธมิตรระหว่างกันโดยการแบ่งปันข้อมูล ความรู้ คำปรึกษา รวมถึงร่วมกันจัดโครงการและกิจกรรมเพื่อให้สมาชิกรัฐสภามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยและความไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งที่ประชุมฯ ให้ความเห็นชอบการทำบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว



ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น