กองทัพภาคที่ 3 เตือนภัยโรคบาดทะยัก
วันที่ 19 มีนาคม 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 125 ณ พิพิธภัณฑ์ทหารกลางแจ้ง กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ, พันโท วรปรัชญ์ กาศสกุล และ พันโท หญิง บุณฑริกา ฑีฆวาณิช ผู้ช่วยโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้
โรคบาดทะยัก หรือ Tetanus เป็นเชื้อโรคที่อยู่ในดิน หรือสถานที่และสิ่งของสกปรก เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล โดยเชื้อโรคนี้ส่งผลต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการชักหรือเกร็ง เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะแสดงอาการประมาณ 14 วัน
การรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
- แผลสดที่ไม่สะอาด
- แผลจากตะปูตำ, เข็มตำ, กิ่งไม้ตำ หรือของมีคมบาด
- แผลเรื้อรังที่มีเนื้อตาย หรือแผลลึกที่ออกซิเจนเข้าไม่ถึง ได้แก่ แผลกดทับ, แผลเบาหวาน และหูชั้นกลางอักเสบ เป็นต้น
- แผลไฟไหม้
- สัตว์กัด เช่น สุนัข, แมว, ค้างคาว, หนู เป็นต้น
- เข้าผ่านทางสายสะดือ
อาการ
- กล้ามเนื้อเกร็งทั่วร่างกาย
- ปวดกล้ามเนื้อ
- กล้ามเนื้อกระตุก
- กลืนน้ำลายลำบาก
- ปวดกราม
- ปวดศีรษะ
- มีไข้
- ความดันโลหิตสูง
- หัวใจเต้นเร็ว
การป้องกัน
- ฉีดวัคซีนตามกำหนดทุก 10 ปี
- ทำความสะอาดแผลให้สะอาด
- ปิดผ้าก๊อซที่แผล ป้องกันการติดเชื้อ
- เปลี่ยนผ้าพันแผลวันละครั้ง หรือเมื่อปนเปื้อนมาก
- ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม
ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 มีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จึงได้มอบหมายให้โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ เพื่อเฝ้าระวังโรคดังกล่าว ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่าป่วยดังอากการตามขั้นต้น ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และบำบัดรักษาต่อไป.
ทรงวุฒิ ทับทอง
วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564
กองทัพภาคที่ 3 เตือนภัยโรคบาดทะยัก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น