วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2564

อบจ.อุดรธานี หนุนสภาวัฒนธรรม 5 แสน อนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปะการร้องหมอลำ มรดกตกทอดของชาวอีสาน

อบจ.อุดรธานี หนุนสภาวัฒนธรรม 5 แสน อนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปะการร้องหมอลำ มรดกตกทอดของชาวอีสาน



นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี มอบหมายให้ นางสาวรัชนีวรรณ เจริญชัย ผู้อำนวยการกองการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมเป็นเกียรติในการเปิดงานโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟู ศิลปะการร้องหมอลำในมิติวัฒนธรรม ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมฟ้าหลวงรีสอร์ท ถนนอุดร -หนองบัวลำภู ตำบลโคกสะอาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี มีนายจารึก ปริญญาพล ประธานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี กล่าวเปิดงานโครงการฯ และนายประยูร นารี รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี รายงานความสำคัญโครงการฯว่า หมอลำ เป็นเอกลักษณ์ รูปแบบวัฒนธรรมชาวอีสานที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ หมอลำแบ่งได้หลายอย่างตามลักษณะทำนองของการลำ เช่นลำเต้ย ลำกลอน ลำเรื่อง ลำเรื่องต่อกลอน ลำเพลิน ลำซิ่ง คำว่า “หมอลำ” มาจากคำ 2 คำมารวมกันได้แก่ “หมอ” หมายถึง ผู้มีความชำนาญ และ “ลำ” หมายถึง การบรรยายเรื่องราวต่างๆ ด้วยทำนองอันไพเราะ แต่สภาพสังคมไทยปัจจุบันที่เปลี่ยนไป เป็นยุคที่มีความเจริญทางเทคโนโลยีสูง หมอลำกำลังจะสูญหายไปจากอีสานเนื่องจากขาดผู้สืบทอด อีกประการหนึ่งก็คือ





ผู้ที่จะเป็นหมอลำได้ดีจะต้องใช้ระยะเวลาในการปลูกฝังและบ่มเพาะ ต้องมีใจรักในด้านนี้ จากเหตุผลดังกล่าว สภาวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานีได้เล็งเห็นความสำคัญที่ต้องอนุรักษ์ ฟื้นฟูหมอลำซึ่งเป็นมรดกตกทอดของชาวอีสาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการร่วมกันสืบทอดศิลปวัฒนธรรมการร้องหมอลำ พิณ แคน 2. เพื่อให้เด็ก เยาวชน ได้เรียนรู้หลักคำสอนของศาสนาและวัฒนธรรมในมิติการแสดงหมอลำ3.เพื่อเป็นการสืบสาน อนุรักษ์ การร้องหมอลำให้กับเยาวชน 4. เพื่อให้ศิลปะหมอลำคงอยู่อย่างยั่งยืน 5.เพื่อสร้างศิลปินรุ่นใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งในการจัดโครงการฯ ได้รับความอนุเคราะห์งบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี จำนวน 500,000 บาท มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชน และอาจารย์ จำนวน 100 คน จาก 20 อำเภอในจังหวัดอุดรธานี วิทยากรจากสมาคมหมอลำจังหวัดอุดรธานี จำนวน 10 คน อาทิ หมอลำเทวี บุตรตั้ว(ฟ้าฮ่วน) นายกสมาคมหมอลำจังหวัดอุดรธานี



.............................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น