วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564

กาฬสินธุ์มอบเมล็ดพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ เปิดเมนูเด็ดสายเขียวเพื่อสุขภาพ

กาฬสินธุ์มอบเมล็ดพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ เปิดเมนูเด็ดสายเขียวเพื่อสุขภาพ



เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่มอบนโยบายกัญชาทางการแพทย์และมอบเมล็ดพันธุ์กัญชาให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกสมุนไพรไทย พร้อมประชุมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดนโยบายเพื่อนำสู่การปฏิบัติตามโครงการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการสุขภาพระดับพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 กลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ สาธิตการทำเมนูอาหารพร้อมเปิดเมนูอาหารเด็ดสายเขียวที่มีส่วนผสมของกัญชามากกว่า 10 เมนู บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก
เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 13 มีนาคม 2564 ที่หอประชุมโรงเรียนกาฬสินธุ์ปัญญานุกูล อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเดินทางลงพื้นที่มอบนโยบายกัญชาทางการแพทย์และเป็นประธานมอบเมล็ดพันธุ์กัญชาให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกสมุนไพรไทยยางตลาด โดยมีนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายอำเภอ ส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และอสม.ให้การต้อนรับและร่วมกันมอบ
สำหรับการดำเนินนโยบายกัญชาทางการแพทย์นั้น นอกจากในส่วนของโรงพยาบาลยางตลาดแล้ว ในระดับพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโคกศรี ต.อุ่มเม่า ได้ทำ MOU กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกสมุนไพรไทยยางตลาด โดยดำเนินนโยบายกัญชาทางการแพทย์ตามขั้นตอนและแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข จนได้รับอนุญาตถูกต้อง ซึ่งกรมแพทย์แผนไทยได้จัดส่งเมล็ดพันธุ์กัญชามาเพื่อดำเนินการปลูกเป็นแห่งแรกของ จ.กาฬสินธุ์ และยังเป็นพื้นที่ที่จะดำเนินนโยบายกัญชาครัวเรือนละ 6 ต้น ของกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย



จากนั้นเวลา 09.30 น. นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดนโยบายเพื่อนำสู่การปฏิบัติ ตามโครงการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการสุขภาพระดับพื้นที่แก่คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอเขตสุขภาพที่ 7 กลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ ที่ห้องประชุมทศพร โรงแรมริมปาว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพ ที่ 7 นพ.อุดม ภู่วโรดม สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 7 นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ นายชานุวัฒน์ วรามิตร นายกอบจ.กาฬสินธุ์ และคณะผู้บริหารเขตสุขภาพที่ 7 และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้การต้อนรับ
โดยได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการผลิตภัณฑ์สมุนไพรกัญชา กัญชง เพื่อเศรษฐกิจชุมชน และอาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพรกัญชา ทั้งอาหารพื้นที่ต่างๆ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะแกงลมพัดพร้าว แกงกาเต้นก้อน แกงเอ่กอีเอ้กสุดสะแนน ต้มยำกุ้ง แกงอ่อมน้องควาย ข้าวชะชะช้า ชารื่นเริง และคารูฮูฮา เป็นอาหารพื้นบ้านอีสานที่หาชิมยาก ซึ่งได้รับความสนใจให้กับผู้ร่วมงาน และร่วมชิมรสชาติ บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก



นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่ ประเทศไทยมีการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ และมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ พ.ศ. 2561 ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2561 เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับพื้นที่ เป็นไปในทิศทาง ยุทธศาสตร์ และเป้าหมาย อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยมีการบูรณาการร่วมกันระหว่าง หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างเป็นองค์รวม รวมทั้งมุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วนในพื้นที่ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างความเป็นผู้นําและเจ้าของร่วมกัน ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ตลอดจนสร้างเสริมให้บุคคล ครอบครัว และชุมชน มีสุขภาวะทางกาย จิต และสังคมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและเกิดความยั่งยืนสืบไป โดยใช้กระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ในการบริหารจัดการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน เชื่อมกับระบบบริการระดับปฐมภูมิ เพื่อการพัฒนาสุขภาพชุมชนให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่
ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพระบบบริการสุขภาพและกระบวนการบริการที่ตอบสนองความต้องการและความจำเป็น ด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดการสื่อสารถ่ายทอด พัฒนาคณะกรรมการคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ แปลงนโยบาย นำสู่การปฏิบัติ เพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงาน การบูรณาการเชื่อมโยงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแต่ละพื้นที่ เพื่อวางแผน การกำกับติดตามประเมินผล เสริมสร้างขวัญกำลังใจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ทั้ง 77 อำเภอในกลุ่มจังหวัด ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคามและกาฬสินธุ์ หรือกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ ร่วมการขับเคลื่อนพัฒนา เพื่อรองรับการดูแลกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มโรคเรื้อรั้ง การเฝ้าระวังโต้ตอบโรคและภัยที่มีผลต่อสุขภาพร่างกาย ในเขตสุขภาพที่ 7



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น