วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2564

(มีคลิป) อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่เชียงใหม่ติดตามงานตามนโยบาย กษ. พร้อมมอบนโยบายส่งเสริมความเข้มแข็งสหกรณ์ หนุนลูกหลานเกษตรกรสร้างความมั่นคงอาชีพเกษตร

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่เชียงใหม่ติดตามงานตามนโยบาย กษ. พร้อมมอบนโยบายส่งเสริมความเข้มแข็งสหกรณ์ หนุนลูกหลานเกษตรกรสร้างความมั่นคงอาชีพเกษตร













นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบปะลูกหลานเกษตรกร สมาชิกสหกรณ์ และมอบนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายสุริยะ คำปวง สหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ บุคลากรสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกร ให้การต้อนรับ ณ สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่









โอกาสนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ เยี่ยมชม Display กาแฟของสหกรณ์ฯ และรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการนำลูกหลานเกษตรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร รวมทั้งโครงการการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการพัฒนาฐานชุมชน (กาแฟอาราบิก้า) ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ดำเนินงานโครงการความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น (Local to Local Linkage) โดยได้คัดเลือกสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและสหกรณ์ในการผลิตกาแฟคุณภาพดี พัฒนาการจัดการคุณภาพตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป การสร้างตราสินค้า ตลอดจนการทำตลาด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสหกรณ์และพัฒนาตลาดอย่างยั่งยืน และได้ทำข้อตกลงร่วมกัน ทาง JTEPA จึงส่งผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาปฏิบัติงานร่วมกับสหกรณ์ ในปี 2562 เก็บฐานข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดกาแฟ มีเกษตรกรที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการ 37 ราย และลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำด้านการผลิต การแปรรูปเบื้องต้น การเก็บเกี่ยว การควบคุมคุณภาพ โดยการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการด้านการพัฒนาคุณภาพกาแฟของสหกรณ์ กำหนดทีมตรวจสอบคุณภาพกาแฟ ความสุก บันทึกขั้นตอนการแปรรูป ตรวจสอบลักษณะทางกายภาพของกาแฟกะลา และตรวจสอบความสมบูรณ์ของเมล็ดและรสชาติกาแฟ







ปัจจุบันสหกรณ์ฯ กำหนดราคารับซื้อกาแฟกะลาของสมาชิกแบบขั้นบันได โดยใช้คุณภาพเป็นตัวกำหนดราคากาแฟกะลาที่รับซื้อ ในฤดูกาลผลิต 2562/63 สมาชิกทั่วไปและสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ สหกรณ์ฯ รับซื้อที่ราคา 110 บาท/กก. สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ และกาแฟกะลามีลักษณะทางกายภาพของกาแฟกะลาผ่าน (Defect น้อยกว่า 7%) จะเพิ่มราคาให้อีก 3 บาท (113 บาท/กก.) สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการมีลักษณะทางกายภาพของกาแฟสาร (คะแนน Defect น้อยกว่า 10) และรสชาติ (คะแนนคัพปิ้ง ตามขั้นตอนการประเมิน Cup of Excellence สูงกว่า 80 คะแนน) จะเพิ่มราคาให้อีก 2 บาท (115 บาท/กก.) และได้ดำเนินการพัฒนากาแฟ Single Origin และการพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับ สหกรณ์ฯได้เริ่มทดลองทำการตลาด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก เนื่องจากการทำ Single Origin ทำได้น้อยและยากสำหรับกาแฟทั่วไป สหกรณ์ได้จัดทำบรรจุภัณฑ์แยกเฉพาะรายคน แสดงรายละเอียดพื้นที่ความสูง และลักษณะเด่นของกาแฟของแต่ละคน รวมถึงการจัดทำ QR-Code ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่กำหนดจัดอบรมหลักสูตร : การพัฒนามาตรฐาน “ระบบตามสอบสินค้าเกษตร” QR Trace on Cloud ร่วมกับ มกอช. ในเดือนมิถุนายน 2564 นี้ด้วย







ในปีการผลิต 2563/64 สหกรณ์ฯดำเนินการแปรรูปกาแฟเชอร์รี่เอง ซึ่งสหกรณ์ได้รับการสนับสนุนเครื่องกะเทาะกาแฟเชอรี่ และเครื่องคั่วกาแฟจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ และได้เริ่มทดลองรวบรวมกาแฟเชอร์รี่นำมาแปรรูปเองทั้งกระบวนการ เพื่อพัฒนากระบวนการแปรรูปกาแฟของสหกรณ์ให้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งสหกรณ์ได้รับคำแนะนำจาก Mr.Kuramoshi ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น ในการแปรรูปกาแฟฮันนี่ โดยผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นได้ให้คำแนะนำผ่านการประชุมทางไกลทุกเดือน

นอกจากนี้ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ยังได้ประสานงานกับกรมวิชาการเกษตร และผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ทำการฝึกอบรมให้ความรู้แก่สหกรณ์ในการแปรรูปกาแฟ การพัฒนาการแปรรูปเบื้องต้นของสมาชิก รวมทั้งได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่พัฒนาคุณภาพกาแฟ ทำให้สมาชิกสหกรณ์ได้รับการพัฒนาตลอดกระบวนการผลิตและการแปรรูปสามารถยกระดับการดำเนินธุรกิจกาแฟให้มีอัตลักษณ์เป็นกาแฟคุณภาพพิเศษของสหกรณ์ และในเดือนพฤษภาคม 2565 การปฏิบัติงานในพื้นที่จะสิ้นสุด แต่ยังคงการดำเนินงานในการติดตามผลการพัฒนาการผลิตและการแปรรูป พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้ และเป็นสหกรณ์ต้นแบบในการขยายผลให้กับสหกรณ์อื่นต่อไป





ในการนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มอบป้ายเงินอุดหนุนให้กับสหกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์การตลาด ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนาจำกัด และสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ด จำกัด และมอบใบประกาศให้กับสมาชิกสหกรณ์ที่ผลิตกาแฟคุณภาพ จำนวน 3 ราย ที่ได้คะแนนคัพปิ้งมากกว่า 80 คะแนน ซึ่งถือเป็นคะแนนที่สูงและมีโอกาสในการพัฒนาเป็นกาแฟสำหรับส่งประกวดหรือประมูลได้ ได้แก่ นายอนันต์ พรหมเมตจิต นายเสถียร คำหล้า และนายประสิทธิ์ ขุ่ยอาภัย จากนั้นได้เยี่ยมชมโรงคั่วกาแฟของสหกรณ์ฯ และชมกระบวนการกะเทาะเปลือกผลสดกาแฟเชอรี่ด้วยอุปกรณ์การตลาดที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมฯ เพื่อพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจกาแฟของสหกรณ์ และได้เยี่ยมชมการดำเนินงานร้านกาแฟของสหกรณ์ฯ อีกด้วย







จากนั้น อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ เดินทางไปเยี่ยมชมแปลงเกษตรของ นายวรชัย ทองคำฟู อายุ 41 ปี หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร กล่าวว่า ตนเองมีพื้นที่ทำการเกษตร 23 ไร่ ในตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เดิมเคยทำงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และได้ลาออกมาเพื่อทำธุรกิจที่บ้านที่ดำเนินธุรกิจแปรรูปผลไม้แช่อิ่ม กระเทียมโทนดอง พร้อมกับบริหารจัดการพื้นที่ทำการเกษตรในรูปแบบของวนเกษตร เริ่มจากการเข้าร่วมอบรมการจัดการสวนป่า โดยใช้หลักการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มาพลิกฟื้นผืนแผ่นดินของตนเอง ผนวกกับนำองค์ความรู้จากการเรียนเกษตรมาช่วยในการจัดสรรแปลง ด้วยพื้นที่เป็นที่ลาดชันจึงเกิดปัญหาการเข้าถึงน้ำในการทำการเกษตร จึงได้เลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับปริมาณการเข้าถึงน้ำของแต่ละพืช ปลูกพันธุ์ป่าที่ได้รับอนุญาต เช่น มะขามป้อม ไผ่กิมซุง ฯลฯ นำมาแปรรูป เช่น กิ่งไม้ในแปลงเอามาใช้เป็นฟืน นำมะขามป้อมป่ามาดองเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งมีการถ่ายทอดให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่มีความสนใจและมีการบรรยายขยายผลในเรื่อง การจัดการแปลงให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในอนาคตอยากให้แนวความคิดของตนเองให้ขยายกับเกษตรกรที่สนใจในการทำเกษตรแบบวนเกษตร และอาจจะมีการแปรรูปเป็น ชาผักหวาน มะขามป้อมอบแห้ง ฯ รวมทั้งมีความตั้งใจอยากจะทำให้พื้นที่ทางการเกษตรของตนเป็นเหมือนป่าชุมชน หรือ Supermarket ชุมชน ที่มีทั้งพืชผักท้องถิ่น ไว้กินไว้ขายตลอดทั้งปี และยังใช้องค์ความรู้จากการเรียนทางการเกษตรนำมาประยุกต์ใช้กับการปลูกพืชผักต่าง ๆ ในพื้นที่ของตนและยังเป็นพื้นที่การเรียนรู้และทดลองของผู้เข้าร่วมโครงการฯ มีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ของตนเองให้เกิดมูลค่าเพิ่ม พร้อมมีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งในเรื่องของต้นทุนการผลิตและเทคโนโลยีในการผลิตผนวกกับช่องทางการตลาดในปัจจุบัน คือ การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์บนแฟลตฟอร์มต่าง ๆ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ COVID-19 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี ทำให้มีช่องทางการตลาดและมียอดขายที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการนำสินค้าวางขายในห้างสรรพสินค้า ตลาดจริงใจมาร์เก็ต และการออกบูธแสดงสินค้าอีกด้วย.

https://youtu.be/9Vaddv4TZzE

ทรงวุฒิ ทับทอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น