วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2564

การออกกำลังกายที่มากเกินไป อาจมีอันตรายถึงชีวิต

การออกกำลังกายที่มากเกินไป อาจมีอันตรายถึงชีวิต



วันที่ 25 มีนาคม 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 126 ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษก กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันโท วรปรัชญ์ กาศสกุล และ พันโท หญิง บุณฑริกา ฑีฆวาณิช ผู้ช่วยโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้

การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ แต่การออกกำลังกาย ที่มากจนเกินไปหรือเกินความเหมาะสมที่ร่างกายของตนเองเองรับได้ อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งอันตราย ที่คนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควรที่จะต้องทราบ ได้แก่
1. อันตรายจากการเลือกรูปแบบการออกกำลังกายผิดประเภท ร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน กีฬาแต่ละประเภทก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคน เช่น การวิ่งกับผู้สูงอายุ อาจมีปัญหาทางด้านหัวเข่า ข้อเท้า ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าร่างกายไม่พร้อมไม่เหมาะกับการวิ่ง ถ้าฝืนก็อาจทำให้บาดเจ็บได้ง่าย ควรเลือกเปลี่ยนเป็นการเดินหรือจ๊อกกิ้งช้าๆ จะดีกว่า รวมไปถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ซึ่งการวิ่งนั้นก็อาจเสี่ยงเป็นอันตรายมากกว่าผู้ป่วยโรคอื่นๆ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าห้ามเสียทีเดียว ควรปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ
2. สิ่งที่ผู้ออกกำลังกายส่วนใหญ่มองข้ามนั้นก็คือ การยืดเหยียดก่อนและออกกำลังกาย ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในการออกกำลังกาย เพราะเป็นการวอร์มร่างกาย หรือปรับสภาพร่างกายให้พร้อมต่อการออกกำลังกาย ซึ่งถือเป็นการลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยเพิ่มอุณหภูมิในร่างกายเป็นการกระตุ้นระบบหัวใจและไหลเวียนเลือดโดยรวม ให้ร่างกายพร้อมที่ทำงานมากขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากการที่กล้ามเนื้อทำงานมากเกินไปมีผลให้เซลล์กล้ามเนื้อได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง มีกรดแลคติกคั่งค้าง โดยกรดแลคติกนี้ หากปล่อยให้สะสมในปริมาณมากก็จะทำร้ายเซลล์ ทำให้รู้สึกเจ็บและปวดเมื่อย กล้ามเนื้อมีปฏิกิริยาที่เชื่องช้าลง และหากยังไม่พักกล้ามเนื้อนั้น อาจทำให้เกิดตะคริวได้
3. การออกกำลังกายทำให้เกิดเหงื่อนั่นหมายถึงทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ จึงควรดื่มน้ำก่อนและระหว่างออกกำลังกายในปริมาณที่เหมาะสม

นอกจากนี้ยังอาจประสบกับภาวะความผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ตามมา เช่น นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน ภูมิคุ้มกันลดลง เป็นต้น อีกทั้ง ข่าวการเสียชีวิตจากการออกกำลังกาย พบบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เพราะว่า ผู้ออกกำลังกาย หรือนักกีฬาขาดความรู้ ความเข้าใจ ในการเรียนรู้หลักพื้นฐานของการออกกำลังกาย หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือ รู้แต่ก็ฝืน และไม่ปฏิบัติตาม
โดยสัญญาณเตือนอันตราย เมื่อโหมออกกำลังกายมากเกินไป มีอยู่ 7 อย่าง ดังนี้.-
1) อ่อนเพลีย 5) นอนไม่หลับ
2) ไม่สดชื่น 6) ปวดเมื่อย
3) พักผ่อนน้อย และ 7) หิวน้ำมาก
4) หงุดหงิดง่าย

ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 มีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยแนะนำการออกกำลังที่ถูกต้อง ก็ควรที่จะตระหนักถึง ความหนัก และปริมาณที่ควรออกแต่พอดีเหมาะสมกับอายุ เพศ เวลา อุปกรณ์ รวมไปถึงการออกกำลังกายในสถานที่ที่เหมาะสมกับชนิดกีฬานั้นๆ และที่สำคัญที่สุดก็คือ สภาพของร่างกาย การพักผ่อนหลังการออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับการทานอาหารที่มีประโยชน์ จึงจะเป็นการออกกำลังกายอย่างถูกวิธีและเป็นผลดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้าง มีอาการบ่งชี้ หรือมีอาการสงสัยจากสัญญาณเตือนอันตราย ตามขั้นต้น ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาต่อไป.

ทรงวุฒิ ทับทอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น