ปิดคอร์สแล้ว แต่การสร้างสรรค์ผลงานเพิ่งจะเริ่มต้น เครือข่ายเยาวชนภาคอีสาน ยืนยันจะทุ่มสุดฝีมือสร้างผลงานออกมาให้ดีที่สุด รับรองไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอน
หลังจากคณะทำงานโครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ หลักสูตรสื่อชุมชนสื่อสารสุขภาวะ เครือข่ายภาคอีสาน ได้ลงพื้นที่ที่จังหวัดขอนแก่น จัด Workshop ระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2564 ณ ห้องกรรณิการ์ พิมานการ์เด้น บูติคโฮเต็ล อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่โมเดลต้นแบบ นำไปปรับใช้ในหลักสูตรสื่อชุมชนสื่อสารสุขภาวะ ร่วมกับหลักสูตรกลยุทธ์สื่อสารเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ ในการสร้างช่องทางสื่อสารใหม่ สื่อใหม่ และการรณรงค์ทางสังคมใหม่ๆ ผ่านการผลิตสื่อสร้างสรรค์
อาจารย์ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า หลักสูตรสื่อชุมชนสื่อสารสุขภาวะ ที่นำมาอบรมในครั้งนี้ เป็นหลักสูตรที่ทางโครงการเขียนขึ้นมาจากประสบการณ์ทำงานของอาจารย์ผู้ที่ทำโครงการนี้มากว่า 5 ปี และจากประสบการณ์การทำงานมากว่า 30 ปี มุ่งพัฒนาความสามารถของภาคีเครือข่ายให้สามารถวิเคราะห์ ออกแบบแนวทางการสื่อสาร และวางแผนกลยุทธ์เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการสร้างเสริมสังคมสุขภาวะ ซึ่งหลักสูตรดังกล่าว ได้มีการอบรมให้กับนักสื่อสารสร้างสรรค์ทั้ง 4 ภาค โดยมีการทดลองในพื้นที่ภาคเหนือ ที่จังหวัดพะเยา, ภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา, ภาคกลาง ที่กรุงเทพมหานคร และภาคอีสาน ที่จังหวัดขอนแก่น
เพื่อให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า Digital Disruption และผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ และเรียนรู้เทคนิคที่ทำให้ธุรกิจสามารถปรับตัวเข้าสู่ยุค Digital Disruption กระตุ้นทำให้เกิดความคิด วิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อธุรกิจได้ นอกจากนี้ยังให้ความรู้เกี่ยวกับความหมายและความสำคัญของสุขภาวะชุมชน หลักการสื่อสารสุขภาวะ และการสื่อสารแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนแบบองค์รวม
โดยประเด็นสุขภาวะในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ในภาคอีสานนั้น พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ภาคอีสาน กล่าวว่า ในภาคอีสานนั้น มีการนำร่องใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม โดยมีเยาวชน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และครูพี่เลี้ยง ที่เข้าร่วมโครงการรวม 52 คน ซึ่งหลังจากการอบรมจบ จะมีการทำงานในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ เป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้ ถึงเดือนกรกฎาคม 2564 นี้ ซึ่งจะมีผลงานออกมาทั้งหมด 36 ชิ้นงาน ใน 5 ประเด็นให้เลือกทำ คือ ประเด็นที่ 1 รองรับสังคมสูงวัย, ประเด็นที่ 2 ปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาวะ, ประเด็นที่ 3 ทักษะรู้เท่าทันสื่อ และความรอบรู้ด้านสุขภาพ ประเด็นที่ 4 ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และประเด็นที่ 5 อัตลักษณ์-ความดี-คนดีของสังคม
"ผลงานที่ได้นี้เป็นของเยาวชน โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน 2 (สมาน สุเมโธ) จ.ขอนแก่น และเยาวชน มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม จ.มหาสารคาม รวม 6 ทีมๆ ละ 6 ชิ้นงาน รวม 36 ชิ้นงาน โดยเยาวชนทั้ง 6 ทีม จะกลับลงไปในพื้นที่ของตนเพื่อคิดเรื่องที่จะผลิตเพื่อนำเสนอในสื่อต่างๆ ตามประเด็นที่กำหนดให้ทั้ง 5 ประเด็น ผลงานที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว จะนำเสนอที่ เว็บไซต์ไทยเสรีนิวส์ ,เพจสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม และในสื่อออนไลน์ต่างๆ ของเครือข่าย ซึ่งคาดหวังว่าผลงานของเยาวชนทั้ง 6 ทีม จะได้รับความนิยมไม่แพ้มืออาชีพอย่างแน่นอน" พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ กล่าว
ซึ่งจากการอบรมในครั้งนี้น้องๆ จากกลุ่ม Things different จากมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม กล่าวว่า ตนชอบการสอนในวิชาการสร้างสรรค์และการเล่าเรื่อง ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประภาส นวลเนตร เป็นผู้สอนมากที่สุด เพราะเนื้อหาน่าตื่นตา ตื่นใจ มองเห็นวิธีการคิด กระบวนการผลิตหนัง และการเล่าเรื่องด้วยตัวอย่างต่างๆ ชัดเจน ใกล้ตัว นึกภาพตามได้ทันที ชอบมากๆ
ด้านทีมช่อพะยอม จากโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน 2 (สมาน สุเมโธ) กล่าวว่า ในการอบรมครั้งนี้ วิชาดิจิทัลเปลี่ยนโลก ที่สอนโดยอาจารย์แมนรัตน์ แปลกลำยอง เป็นเนื้อหาที่ชอบมาก เพราะเป็นการเปิดโลกกว้างในเรื่องดิจิทัล เป็นเรื่องและมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่มีสอนที่โรงเรียนจึงเป็นเรื่องแปลกและเรื่องใหม่ที่ได้เรียนรู้ แต่ไม่ใช่แค่รายวิชานี้เท่านั้นที่น่าสนใจ ทุกๆ เรื่องที่วิทยากรแต่ละท่านมอบให้ดีมากๆ อยากให้มีสอนแบบนี้ในโรงเรียน เชื่อว่าจะทำให้เพื่อนๆ คนอื่น ได้เปิดโลกกว้างและรู้เท่าทันสื่อในสังคมปัจจุบันนี้ได้มากขึ้น และอยากให้ทุกคนติดตามผลงานของเราที่จะสร้างสรรค์ออกมาเร็วๆ นี้ด้วย รับรองจะทำให้ดีที่สุด
วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2564
ปิดคอร์สแล้ว แต่การสร้างสรรค์ผลงานเพิ่งจะเริ่มต้น เครือข่ายเยาวชนภาคอีสาน ยืนยันจะทุ่มสุดฝีมือสร้างผลงานออกมาให้ดีที่สุด รับรองไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น