วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2564

สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี”

“สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี”





วันที่ 9 มีนาคม 2564 เวลา 20.00 นาฬิกา (ตามเวลาในประเทศไทย) นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภากรรมาธิการ ในคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี เข้าร่วมการประชุมกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี (IPU Bureau of Women Parliamentarians) ครั้งที่ 45 วาระที่หนึ่ง มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 23 คน จากไซปรัส เคนยา แคนาดา กาตาร์ อินเดีย เซเนกัล ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย สวีเดน อุรุกวัย และไทย
ภายหลังจากที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการประชุมสุดยอดประธานรัฐสภาสตรี ครั้งที่ 13 (ภาคออนไลน์) ซึ่งจัดไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 รวมถึงแนวทางและวาระในการจัดการประชุมสุดยอดฯ ภาคกายภาพในเดือนกันยายน 2564 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย พร้อมทั้งรับทราบรายงานบทบาทของสตรีในรัฐสภา ประจำปี 2563 (Women in parliament in 2020) จัดทำโดย IPU ในโอกาสวันสตรีสากล (วันที่ 8 มีนาคม) ประจำปี 2564 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในรัฐสภา แม้จะมีความก้าวหน้า แต่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และถือว่าล่าช้ากว่าเป้าหมายที่จะบรรลุให้ชาย-หญิงมีจำนวนเท่ากันในรัฐสภาภายในปี 2030 ที่ประชุมได้พิจารณาและหารือเรื่องการเตรียมการประชุมสหภาพรัฐสภาสตรี (IPU Forum of Women Parliamentarians) ครั้งที่ 31 ซึ่งมีกำหนดการจะจัดขึ้นในวันที่ 3 และ 12 พฤษภาคม 2564 ในห้วงการประชุมสมัชขาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 142 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเน้นในเรื่องการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างชาย-หญิงในบริบทของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และนำเสนอมุมมองมิติของสตรีต่อร่างข้อมติของสหภาพรัฐสภาจำนวน 2 ฉบับที่จะเป็นผลลัพธ์จากการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ รวมถึงพิจารณาแผนการทำงานของคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี ในช่วงเดือนมีนาคม - มิถุนายน 2564 ตลอดจน แผนกิจกรรมในประเด็นสตรีของ IPU ในช่วง 23 มีนาคม - 24 เมษายน เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้เข้าสู่การประชุมสหภาพรัฐสภาสตรีในเดือนพฤษภาคม 2564





จากนั้น ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การจัดทำยุทธศาสตร์สหภาพรัฐสภาฉบับใหม่ (ปี 2022 – 2026) เนื่องจากปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่จะใช้ยุทธศาสตร์ 5 ปี ของสหภาพรัฐสภาฉบับปัจจุบัน (2017-2021) ดังนั้นจึงควรผลักดันให้วาระการเสริมพลังสตรี และการมีส่วนร่วมที่เท่าเทียมของสตรีในทางการเมือง บรรลุผลในปี ค.ศ. 2030 อยู่ในวาระลำดับต้น ๆ ของ IPU ต่อไป โดยพิจารณามุมมองว่าด้วยมิติสตรีในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้าว่าควรจะดำเนินไปในทิศทางใด อีกทั้ง ยังเห็นควรให้คณะกรรมาธิการฯ ได้เริ่มเตรียมการพิจารณาประเด็นที่จะนำเสนอเป็นหัวข้อหลักของการประชุมสหภาพรัฐสภาสตรี ในห้วงการประชุมสมัชชา IPU ครั้งที่ 143 ณ กรุงคิกาลี ประเทศรวันดาในปี 2565 ด้วย
นอกจากนี้ ยังได้มีการอภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจของคณะกรรมาธิการฯ อาทิ หัวข้อด้านการศึกษาระหว่างหญิงและชาย การให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมเพื่อความเสมอภาค ผู้อพยพที่เป็นสตรีในการได้รับสิทธิทางการศึกษา กฎหมายป้องกันการเหยียดเพศ การใช้ความรุนแรงทางเพศ และการล่วงละเมิดทางเพศ การรณรงค์ #MeToo หรือการอภิปรายในสิทธิของชนพื้นเมืองซึ่งถือเป็นกลุ่มประชากรที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับบรรทัดฐานของสังคมนั้น ๆ





ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น