วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564

สุราษฎร์ธานี มรส.ดัน “มวยไชยา” ศิลปะป้องกันตัวถิ่นใต้สู่นานาชาติสานสัมพันธ์เครือข่ายวัฒนธรรม .



ไทเกอร์นิวส์ สุราษฎร์ธานี
ศูนย์ข่าวภาคใต้ตอนบน

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 ที่อาคารเรียนรวม และศูนย์วัฒนธรรม (พุทธาวิชาลัย) มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) นำ “มวยไชยา” ศิลปะป้องกันตัวในท้องถิ่นภาคใต้ จัดแสดงโชว์หวังเป็นสื่อสานสัมพันธ์เครือข่ายวัฒนธรรมระหว่างมหาวิทยาลัย ในงาน “วิถีศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย” โดยมี ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรม อีกทั้ง ร่วมจัดนิทรรศการวิถีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่อง “พลิกพับบุด : พระมาลัย วรรณกรรมคำสอนของชาวใต้” ซึ่งนำความสวยงามของ “พระมาลัย” ไปเผยแพร่ภายใต้การนำโดยอาจารย์ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม





สำหรับงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านศิลปะและวัฒนธรรม ประจำปี 2564 จัดโดย เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11 ภายใต้ชื่องาน “วิถีศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย” (the 1st National and the 11th International Conference on Arts and Culture: Contemporary Arts and Cultural Practices) ในงานมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีมหาวิทยาลัยร่วมลงนาม 14 แห่ง และมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือสภาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ 38 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี





ได้มอบหมายให้อาจารย์ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม เป็นผู้ลงนาม ตลอดการจัดแสดงนิทรรศการด้านวัฒนธรรมจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้นำการแสดงศิลปะป้องกันตัวที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่นภาคใต้ ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายอย่าง “มวยไชยา” เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การแสดงด้านศิลปวัฒนธรรม พร้อมได้ร่วมจัดนิทรรศการวิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่อง “พลิกพับบุด : พระมาลัย วรรณกรรมคำสอนของชาวใต้” ซึ่งนำ ความสวยงามของ “พระมาลัย” เผยแพร่ในงานครั้งนี้ด้วย





ข่าว : กนกรัตน์ ศรียาภัย
ข้อมูล : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม www.sru.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น