วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564

กองทัพภาค 3 แถลงสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กับจุดความร้อนสะสมที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

กองทัพภาค 3 แถลงสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กับจุดความร้อนสะสมที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง





วันที่ 16 เมษายน 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 128 ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ, พันโท วรปรัชญ์ กาศสกุล และ พันโท หญิง บุณฑริกา ฑีฆวาณิช ผู้ช่วยโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้.-
ตามที่ประเทศไทย ได้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและคุณภาพอากาศ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 มาจนถึงปัจจุบัน สถานการณ์จุดความร้อนและค่าคุณภาพอากาศทางภาคเหนือ เริ่มส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน ซึ่งสาเหตุเกิดจากการบริหารจัดการเชื้อเพลิง และการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทางการเกษตร รวมถึงปัญหาหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีปริมาณสูงขึ้น อีกทั้งประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง ประกอบกับสภาพอากาศปิด ลมสงบนิ่ง จึงส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศโดยรวมของพื้นที่ภาคเหนือค่อนข้างมาก













กองทัพภาคที่ 3 และทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาและร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ในการลดปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนืออย่างจริงจัง โดยได้วางมาตรการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ได้กำหนดให้มีการปิดป่าในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 61 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม - 30 เมษายน 2564 และขอให้ ทุกจังหวัดเร่งรัดการควบคุมไฟป่า และการเผาในพื้นที่โล่งอย่างเข้มงวด อีกทั้ง ประกาศให้ภาคเหนือตอนบน เป็นพื้นที่ “ห้ามเผาโดยเด็ดขาด” หากมีความจำเป็นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่อำเภอ หรือจังหวัดก่อน เพื่อให้มีการเฝ้าระวังและควบคุมเพลิงไม่ให้ลามไปยังพื้นที่ป่าและดับไฟให้เรียบร้อยเมื่อเสร็จภารกิจ ซึ่งจากมาตรการดังกล่าว ทำให้จุดความร้อนสะสมในปี 2564 (ณ วันที่ 14 เมษายน 2564) ลงลดกว่า 42,803 จุด หรือมากกว่าร้อยละ 60.49 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จะประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืนและถาวรได้นั้น ต้องเกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการแก้ไขปัญหา โดยจะต้องประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เกิดจิตสำนึกมีความรักและหวงแหนป่าไม้ในบ้านเกิด รวมถึงให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนต้องมีการวางแผนในให้เป็นระบบแบบแผนตามลำดับขั้นตอนได้อย่างมั่นคงและทันท่วงที.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น