วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564

กสร. ชี้แจงประเด็นดัง “รปภ. ถูกเลิกจ้างเนื่องจากถามค่าแรงในวันหยุดกับนายจ้าง”

กสร. ชี้แจงประเด็นดัง “รปภ. ถูกเลิกจ้างเนื่องจากถามค่าแรงในวันหยุดกับนายจ้าง”

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชี้แจงข้อกฎหมายประเด็น พนักงานรักษาความปลอดภัยพ้นสภาพการจ้างงานเนื่องจากถามค่าแรงในวันหยุดกับนายจ้าง ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมชี้แจงสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ชี้แจงประเด็นพนักงานรักษาความปลอดภัยพ้นสภาพการจ้างงานทันทีโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เนื่องจากถามค่าแรงในวันหยุดกับนายจ้าง ว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายที่ใช้คุ้มครองดูแลสิทธิและหน้าที่ของทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง การที่ลูกจ้างสอบถามค่าแรงของตนเองในการทำงานในวันหยุดนั้น ไม่ได้เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่นายจ้าง ไม่มีเหตุอันสมควรที่ถูกเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง ตามมาตรา 17/1 และอาจเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ในส่วนของค่าชดเชย เนื่องจากลูกจ้างยังทำงานติดต่อกันไม่ครบ 120 วัน จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากนายจ้าง ตามมาตรา 118 และข้อสงสัยที่ว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดเป็น 2 เท่า ช่วงวันหยุดสงกรานต์ได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ลูกจ้างทุกประเภทไม่ว่า
จะเป็นลูกจ้างรายวัน รายเดือน หรืออยู่ระหว่างการทดลองงาน มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีที่นายจ้างประกาศกำหนดไว้ ตามมาตรา 56 (2) หากนายจ้างให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดดังกล่าว ลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มอีก 1 เท่า ตามมาตรา 62 (1) รวมกับค่าจ้างที่ต้องได้อยู่แล้วเป็น 2 เท่า

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในประเด็นที่บริษัทอ้างถึงระเบียบข้อบังคับในการทำงานว่า ต้องทำงานครบ 120 วัน จึงจะได้รับค่าจ้างเป็น 2 เท่านั้น ไม่ได้มีการกำหนดไว้ในข้อกฎหมายแต่อย่างใด ข้อบังคับในส่วนนี้จึงใช้บังคับมิได้ จากกรณีนี้ทั้งตัวลูกจ้างและนายจ้างอาจไม่เข้าใจข้อกฎหมายที่ถูกต้อง จนทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในทางปฏิบัติ ดังนั้น หากมีข้อสงสัยด้านกฎหมายแรงงาน หรือต้องการขอคำปรึกษา หรือลูกจ้างประสงค์ยื่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่อพนักงานตรวจแรงงาน สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 และช่องทางยื่นคำร้องอิเล็กทรอนิกส์ eservice.labour.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น