สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ในห้วงการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 142 นัดที่สอง
วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม 2564 เวลา 19.15 – 21.30 นาฬิกา (ตามเวลาในประเทศไทย) นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทยได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ (The IPU Standing Committee on Peace and International Security) นัดที่สอง ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Virtual Event Platform (VEP) เป็นการผสมผสานระบบ WebEx ซึ่งถ่ายถอดภาพและเสียง และระบบ Interprefy ซึ่งถ่ายทอดเสียงล่าม
การประชุมครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นโดย Mr. Jose Ignacio Echaniz สมาชิกรัฐสภาสเปน ในฐานะประธานการประชุม ได้ดำเนินการตามระเบียบวาระการประชุมซึ่งมีวาระหลักในการรับรองร่างข้อมติ (Draft Resolution) หัวข้อ “Parliamentary strategies to strengthen peace and security against threats and conflicts resulting from climate-related disasters and their consequences” ริเริ่มและจัดเตรียมโดยสมาชิกรัฐสภา 3 คน ได้แก่ 1) Ms. Claudia Roth สมาชิกรัฐสภาเยอรมนี 2) Mr. Yoro Sow สมาชิกรัฐสภาเซเนกัล และ 3) Mr. Sandith Samarasinghe สมาชิกรัฐสภาศรีลังกา ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่การประชุมคณะกรรมาธิการฯ ในห้วงการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 141 เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ต่อมา ร่างข้อมติดังกล่าวได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติ (Drafting Committee) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ซึ่งปรับปรุงแก้ไขโดยคำนึงถึงข้อเสนอคำขอแก้ไขร่างข้อมติจากรัฐสภาสมาชิกจำนวน 16 ประเทศ รวม130 รายการ ที่นำส่งภายในกำหนดเวลาวันที่ 2 เมษายน 2564 แล้วเสร็จเป็นร่างข้อมติที่ได้นำมาเสนอต่อที่ประชุมในวันนี้
อาศัยข้อบังคับพิเศษของคณะกรรมาธิการฯ ส่งผลให้กรณีที่รัฐสภาสมาชิกจะคัดค้านต่อร่างข้อมติฉบับนี้ ต้องมีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแสดงความจำนงดังกล่าว 1 ใน 3 ของจำนวนรัฐสภาสมาชิกสหภาพรัฐสภา ทั้งนี้ หากประสงค์จะตั้งข้อสงวน (Reservations) สามารถดำเนินการได้ในลักษณะเดียวกัน โดยกำหนดระยะเวลาภายใน 15 วันนับจากวันที่แจ้งเวียนร่างข้อมติ โดยภายในระยะเวลาดังกล่าวมีรัฐสภาสมาชิกประสงค์ตั้งข้อสงวนในวรรคที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ ตุรกี อินเดีย นิการากัว ฮังการี จีน เช็กเกีย โปแลนด์ และไทย แต่ปรากฏว่ามีจำนวนรัฐสภาสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยต่อร่างข้อมติไม่มากพอ ร่างข้อมติดังกล่าวจึงได้รับการรับรองให้เป็นร่างข้อมติเพื่อเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 142 ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 พิจารณาให้การรับรองเป็นข้อมติ (Resolution) ของการประชุมสมัชชาครั้งนี้ โดยสมบูรณ์ต่อไป จากนั้น ประธานการประชุม ได้อนุญาตให้ Ms. Claudia Roth รองประธานสภาสหพันธ์เยอรมนี กล่าวขอบคุณความร่วมมือร่วมใจของผู้เกี่ยวข้องและข้อเสนอคำขอแก้ไขร่างข้อมติจากรัฐสภาสมาชิก ซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำให้ร่างข้อมติมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และ Ms. Cicilia Wildegren สมาชิกรัฐสภาสวีเดน ในฐานะสมาชิกในคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติ อธิบายกระบวนการของการพิจารณาร่างข้อมติซึ่งแตกต่างจากรูปแบบที่เกิดขึ้นในอดีต โดยขอบคุณคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติซึ่งมีองค์ประกอบจากกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ ยกเว้นเพียงกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ยูเรเชีย ร่วมกันเจรจาโดยอาศัยหลักการประนีประนอม แสวงหาแนวทางที่จะให้ข้อเสนอคำขอแก้ไขร่างข้อมติจากรัฐสภาสมาชิกอยู่ในข่ายที่ยอมรับได้ ส่งผลให้ร่างข้อมติมีความครอบคลุมและมีเนื้อหาเพิ่มขึ้น จาก 43 ข้อ เป็น 54 ข้อ หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25
ประธานการประชุมได้เปิดให้มีการอภิปรายภายใต้ประเด็นที่สอดคล้องกับสาระสำคัญในร่างข้อมติข้างต้น ซึ่งมีรัฐสภาสมาชิกจาก อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ตุรกี ซีเรีย แคนาดา นิการากัว ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในด้านการแลกเปลี่ยนแนวทางหรือข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ งบประมาณสนับสนุน และการสร้างความตระหนักรู้ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาหัวข้อสำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ครั้งต่อไป ตามที่กรรมาธิการ (Bureau) ได้เสนอ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2564 คือ “Rethinking and reframing current approaches to peace processes to realise lasting peace” ประธานการประชุมได้เสนอให้ Ms. Cecilia Wildegren สมาชิกรัฐสภาสวีเดน รับทำหน้าที่ผู้เสนอรายงานหลัก ซึ่ง Ms. Wildegren ยินดีและตอบรับที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว
ในช่วงท้ายของการประชุม ประธานการประชุมได้เชิญชวนให้สมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมโครงการ "I Say Yes" ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์การมีส่วนร่วมของเยาวชนและยุวสมาชิกรัฐสภา ตลอดจน เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์สหภาพรัฐสภา ฉบับใหม่ 2022-2026 ที่กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ ปิดท้ายด้วยการเผยแพร่วีดิทัศน์ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency : IAEA) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีภารกิจส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ และเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ทำงานร่วมกับสหภาพรัฐสภาอย่างแข็งขันในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
เครดิตข่าวและภาพ :
กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา
สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ในห้วงการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 142 นัดที่สอง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น