วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564

แรงงานพะเยา’ให้ความรู้แรงงาน‘วัยเก๋า’ปรับตัวสร้างความเข้มแข็งรับสถานการณ์โควิด-19

‘แรงงานพะเยา’ให้ความรู้แรงงาน‘วัยเก๋า’ปรับตัวสร้างความเข้มแข็งรับสถานการณ์โควิด-19



แรงงานจังหวัดพะเยา เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ“ทิศทางการดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้สูงอายุ”โครงการสร้างเครือข่ายการคุ้มครองแรงงานนอกระบบในสังคมสูงวัย ปี 2564 ขับเคลื่อนนโยบายให้ผู้สูงอายุเข้าถึงสิทธิความคุ้มครองอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม พร้อมปรับตัวให้เข้มแข็งสู้โควิด-19

วันที่ 9 มิถุนายน 2564 เวลา 14.00 น. นางรภัสสา พานิกุล แรงงานจังหวัดพะเยา เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “ทิศทางการดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้สูงอายุ” โครงการสร้างเครือข่ายการคุ้มครองแรงงานนอกระบบในสังคมสูงวัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ณ ห้องพรนภา โรงแรมพะเยาเกทเวย์ ตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย
มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมของผู้สูงอายุ รวมทั้งโครงสร้างของประชากรและโครงสร้างของกำลังแรงงานเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้สูงอายุยังต้องทำงานเพิ่มขึ้นด้วย ในส่วนของสถานการณ์ด้านแรงงานจังหวัดพะเยา พบว่า มีประชากรวัยแรงงาน 346,004 คน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 215,080 คน ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 206,575 คน ผู้ว่างงาน 4,300 คน และผู้รอฤดูกาล 4,205 คน ผู้อยุ่นอกกำลังแรงงาน 130,924 คน มีแรงงานนอกระบบ 157,137 คน มีแรงงานต่างด้าว 1,110 คน
มีผู้ประกันตน 74,725 ราย ในส่วนของสำนักงานแรงงานจังหวัดพะเยาได้มีการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ





ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพโดยฝึกอาชีพต่าง ๆ จำนวน 8 รุ่น คือ หลักสูตรการทำหมอนอิงผ้าด้นมือ การจักสานจากวัสดุธรรมชาติ การทำกระเป๋าผ้า จักสานผักตบชวา ทำชาสมุนไพร ทำชาชงดื่มจากบัวหลวงกว๊านพะเยา ทำน้ำพริกคั่วทราย และการเลี้ยงผึ้ง เพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งกิจกรรมจ้างงานเร่งด่วนและกิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน

นางรภัสสา กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานมีนโยบายดูแลผู้สูงอายุ โดยส่งเสริมการมีงานทำและฝึก ทักษะฝีมือเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ทั้งยังขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญควบคู่กันไป เพื่อเพิ่มสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ผ่านการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประกันสังคมและกฎกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ขยายอายุการเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 จากเดิม 60 ปีบริบูรณ์เป็นไม่กำหนดอายุขั้นสูง ประกันเงินบำนาญขั้นต่ำให้แก่ทายาท กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตภายใน 60 เดือน ปรับสูตรการคำนวณบำนาญของผู้ประกันตนเมื่อเกษียณอายุ และพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้ผู้รับบำนาญสามารถเป็นผู้ประกันตนต่อไป โดยได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี (เจ็บป่วย ทุพพลภาพ และตาย) เป็นต้น

สำหรับการจัดอบรมโครงการสร้างเครือข่ายการคุ้มครองแรงงานนอกระบบในสังคมสูงวัย ปี 2564
ในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพะเยา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แรงงานนอกระบบกลุ่มผู้สูงอายุรวมตัวกันเป็นเครือข่าย ประสานความร่วมมือให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงการได้รับแจ้งข่าวสาร ความเคลื่อนไหว และเบาะแสการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนให้ทราบถึงช่องทางบริการที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ เพื่อการเข้าถึงสิทธิการคุ้มครองอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น