แพทย์ทหารห่วงใย เตือนภัยโรคมะเร็งตับ
วันที่ 23 มิถุนายน 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 138 ณ ศูนย์เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้
ปัจจุบัน โรคมะเร็งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย และมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ถึงวันละ 336 คน หรือ 122,757 คนต่อปี โดยโรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกของคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี, มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านม, มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก ซึ่งมีผู้เสียชีวิตวันละ 221 คน หรือคิดเป็น 80,665 คนต่อปี เลยทีเดียว
มะเร็งตับปฐมภูมิ เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 1 ในผู้ชาย และอันดับ 3 ในผู้หญิง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ภาวะตับแข็ง โดยร้อยละ 80-90 ของมะเร็งตับ จะมีภาวะตับแข็งร่วม
สาเหตุของมะเร็งตับ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี สาเหตุรองมา คือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ที่มีปริมาณพังผืดในตับมากหรือเข้าสู่ภาวะตับแข็ง การดื่มแอลกอฮอล์ โรคตับอักเสบคั่งไขมันเรื้อรัง ที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ โรคภูมิต้านทานต่อตับตนเอง แม้ว่าจะมีการตรวจคัดกรองมะเร็งตับในกลุ่มประชากรโรคตับแข็ง โดยมีจุดประสงค์เพื่อคัดกรองมะเร็งตับระยะเริ่มแรก เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย แต่ก็ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่วินิจฉัย ได้ในระยะกลางถึงระยะลุกลามหรือระยะท้าย
อาการของมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการดังนี้
1) ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณข้างขวาส่วนบน ในบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปที่หลังหรือไหล่
2) ท้องบวมขึ้น
3) น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
4) เบื่ออาหาร ไม่รู้สึกอยากอาหาร
5) รู้สึกอ่อนเพลีย
6) มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
7) คลำพบก้อนที่บริเวณตับ
8) ตัวเหลืองและตาเหลือง
ข้อแนะนำในการเฝ้าระวังมะเร็งตับ โดยใช้การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบน ร่วมกับตรวจระดับซีรั่ม AFP ทุก 6-12 เดือน ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ มีภาวะตับแข็งจากทุกสาเหตุ ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรังที่มีอายุเกิน 40 ปี ในเพศชาย และ 50 ปี ในเพศหญิง โดยการติดตามทุก 6 เดือน ให้ประโยชน์ในการสืบค้นมะเร็งตับระยะแรกดีกว่าติดตามทุก 12 เดือน หากพบก้อนในตับจะมีกระบวนการติดตามและการส่งตรวจเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับขนาดก้อนต่อไป
ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 มีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อโรคดังกล่าว ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่ามีภาวะหรืออาการขั้นต้น ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาต่อไป.
ทรงวุฒิ ทับทอง
วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564
แพทย์ทหารห่วงใย เตือนภัยโรคมะเร็งตับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น