วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเยือนเมืองพัทยา พร้อมหารือแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ระบบสาธารณสุข การศึกษา และความคืบหน้าของระบบขนส่งมวลชนโมโนเรลพัทยา

เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเยือนเมืองพัทยา พร้อมหารือแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ระบบสาธารณสุข การศึกษา และความคืบหน้าของระบบขนส่งมวลชนโมโนเรลพัทยา

วันที่ 25 พ.ย.64 คณะผู้บริหารเมืองพัทยา นำโดย นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา พร้อมคณะทำงานนายกเมืองพัทยา และเจ้าหน้าที่เมืองพัทยา ร่วมให้การต้อนรับ H.E.Mr.Thierry Mathou เอกอัคราชทูตประเทศฝรั่งเศสประจำประเทศไทย พร้อมคณะ ที่เดินทางมาเยือนเมืองพัทยา พร้อมเข้าพูดคุยและหารือถึงสถานะของชาวฝรั่งเศสในเมืองพัทยา และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุขจากผลกระทบโควิด-19 รวมทั้งโครงการ Smart City ระบบ 5G และการพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งประเทศไทยร่วมกับฝรั่งเศสในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ

โดย H.E.Mr.Thierry Mathou เอกอัคราชทูตประเทศฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กล่าวว่า การควบคุมโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย พบว่าได้ดำเนินการบริการในเรื่องของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งพบว่าเป็นวัคซีนที่มาจาก 2 ประเทศ คือฝรั่งเศสและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ซึ่งต้องขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขและเมืองพัทยาที่ช่วยจัดสรรวัคซีนให้กับพี่น้องชาวฝรั่งเศสรวมทั้งภรรยาชาวไทยและบุตรของชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในเมืองพัทยาที่มีมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากกรุงเทพมหานครฯ ทั้งที่ลงทะเบียน 1,600 คนและลงทะเบียนในกรุงเทพฯ แต่มาอยู่อาศัยในเมืองพัทยาประมาณ 2,000-3,000 คน เฉลี่ยอายุประมาณ 60-65 ปี ซึ่งมีข่าวดีว่าในส่วนของวัคซีนจอนห์นสันแอนด์จอห์นสัน และโมเดอร์น่าจะเข้าถึงประเทศไทยอีกในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ และจะไ้ด้ทำการบูสเตอร์วัคซีนในโดสที่ 3 ตามลำดับ

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือมาตรฐานของการศึกษาและโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุต้องมีมาตรฐานต่างๆ ที่รัดกุม ในส่วนของเมืองพัทยาเองก็พบว่ามีสมาคมประจำประเทศฝรั่งเศสอยู่ ถึงแม้ไม่มีกงสุลประจำในเมืองพัทยา ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการร่วมกับกงสุลประเทศออสเตรีย และเยอรมัน แต่เราก็มีโรงเรียนที่ได้มาตรฐานสถานศึกษาของประเทศฝรั่งเศสอยู่ในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ดำเนินการในส่วนของการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งก็ได้มีความพยายามผลักดันให้สามารถเพิ่มการเรียนการสอนได้ถึงระดับชั้นมัธยมต่อไปด้วยเช่นกัน และจากสถานการณ์ปกติก่อนจะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2562 นั้นพบว่ามีชาวฝรั่งเศสเดินทางมายังประเทศไทยถึง 8 แสนคน จึงอยากรับทราบแนวทางของเมืองพัทยาในอนาคตที่จะทำให้การท่องเที่ยวราบลื่นขึ้น

ด้าน นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้กล่าวชี้แจงพร้อมนำเสนอข้อมูลในการดำเนินการของเมืองพัทยาต่อข้อซักถามของเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ว่า เมืองพัทยาเป็นเมืองปกครองพิเศษที่ดำเนินการตามแนวทางพัฒนายุทธศาสตร์ของประเทศจากรัฐบาลอย่างควบคู่กันมาโดยตลอด เมืองพัทยาได้วางแผนและกำหนดมาตรการต่างๆ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ในส่วนแรกของการสร้างความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุข ที่เมืองพัทยาได้ปฏิบัติตามแนวทางของจังหวัดชลบุรี ซึ่งท่ีผ่านมาได้มีการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันกับหน่วยงานท่ีเกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น โดยเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรีได้ดำเนินการให้บริการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศไทย และวางเป้าหมายการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงทั้งจังหวัดชลบุรีให้ครอบคลุม 100% ทั้งประชาชน ผู้อยู่อาศัย รวมถึงนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติ และกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในเมืองพัทยา

ในส่วนของการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น เมืองพัทยาได้วางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบอีเว้นต์ซีรีส์ที่จัดขึ้นทุกสัปดาห์ตั้งแต่ศบค.ได้มีมาตราการคลี่คลายเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติวันที่ 1 พ.ย.64 ด้วยมาตรการป้องกันอย่งเข้มงวด โดยมีการจัดงานดนตรีพัทยามิวสิคเฟสติวัล งานลอยกระทง เทศกาลพลุเมืองพัทยา งานเดินกินถิ่นนาเกลือ และเทศกาลพัทยาเค้าต์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการภายใต้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว นอกจากนี้เมืองพัทยา และภาคเอกชนได้ร่วมกับรัฐบาลและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกันจัดทำโครงการ Pattaya Move on ที่ได้สร้างมาตรฐานทางด้านสุขอนามัยที่ดีต่อการท่องเที่ยว โดยมีมาตรการดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังเมืองพัทยาภายใต้มาตรการต่างๆ ที่รัดกุมและปลอดภัย

ทั้งนี้ ในการพัฒนายกระดับท้องถิ่นสู่เมืองเศรษฐกิจแห่งระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เมืองพัทยาได้วางแนวทางการพัฒนาเมืองพัทยาสู่ NEO Pattaya ตามยุทธศาตร์การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยได้วางแผนการดำเนินโครงการ Pattaya Smart City เพื่อนำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ที่ทันสมัย นำมาพัฒนาเมืองพัทยา โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพาในการจัดทำโครงการแอปพลิเคชั่นไลน์ Pattaya Connect ที่มีสมาชิกติดตามกว่า 1.2 ล้านคน เพื่อเป็นช่องทางโซเชียลมีเดียสื่อสังคมออนไลน์ในการนำเสนอข้อมูลลต่างๆ จากทางภาครัฐการประชาสัมพันธ์ข่าวสารของเมืองพัทยา การรายงานผลการจราจรในเขตเมืองพัทยา ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวและการศึกษา รวมทั้งรับข้อร้องเรียนต่างๆ เพื่อเข้าถึงประชาชน และอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวได้มากที่สุดตามที่ปัจจุบันผู้คนนิยมใช้สื่อออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เมืองพัทยายังได้พัฒนาเครือข่าย 5G โดยร่วมกับการสื่อสารและโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้บริหารจัดการมากขึ้น ภายในปี 2022 จะมีเสาสัญญาณ 5G ครอบคลุมพื้นที่เมืองพัทยาถึง 90 ต้น

ในเรื่องของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนนั้น เมืองพัทยาได้จัดทำศึกษา ออกแบบและประมาณการแนวทางจัดทำระบบรถไฟฟ้ารางเบา หรือโครงการโมโนเรลพัทยา ซึ่งได้ศึกษาความเหมาะสมออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในรูปแบบรถไฟฟ้าโมโนเรลในเส้นทางรวม 9.9 กม. รวม 12 สถานีหลักและ 1 สถานีย่อย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA และเชื่อว่าจะมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

The post เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเยือนเมืองพัทยา พร้อมหารือแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ระบบสาธารณสุข การศึกษา และความคืบหน้าของระบบขนส่งมวลชนโมโนเรลพัทยา appeared first on .



from WordPress https://ift.tt/3l6fHpW
via IFTTT

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น