วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563

“ลดาวัลลิ์”เสนอ 4 ข้อแก้ปัญหาลำไย จี้รัฐบาลจ่ายเยียวยาชาวสวนลำไยที่เสียหายจากภัยแล้งราคาตกต่ำ 3,400 ล้านบาท ไร่ละ 2,000บาท รายละไม่เกิน20ไร่

“ลดาวัลลิ์”เสนอ 4 ข้อแก้ปัญหาลำไย จี้รัฐบาลจ่ายเยียวยาชาวสวนลำไยที่เสียหายจากภัยแล้งราคาตกต่ำ 3,400 ล้านบาท ไร่ละ 2,000บาท รายละไม่เกิน20ไร่



นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและผู้ก่อตั้งพรรคเสมอภาค เปิดเผยว่าจากการเดินทางไปประชุมชี้แจงอุดมการณ์และแนวนโยบายของพรรคเสมอภาคใน จังหวัดพะเยา จังหวัดลำพูนและจังหวัดเชียงใหม่ระหว่างวันที่ 14-15 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้มีนายมานพ จินะนา

ประธานสภาอาชีพเกษตรเข้าร่วมประชุมด้วย และได้บอกเล่าถึงปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนลำไย ที่มีปลูกอยู่หลายจังหวัดทั่วประเทศ ประมาณ 1.2 ล้านไร่ จำนวนเกษตรกรประมาณ 200,000 ราย ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งส่งผลกระทบคุณภาพลำไย และไม่สามารถส่งออกได้ ไม่มีตลาดรองรับ ทำให้ประสบปัญหาราคาตกต่ำมาก และไม่มีนโยบายช่วยเหลืออย่างชัดเจน เลย เกษตรกรชาวสวนลำไยจึงได้หารือกันและเสนอรัฐบาลให้จัดสรรงบประมาณจ่ายเยียวยาให้ชาวสวนลำไยที่กำลังได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ ประมาณ 200,000 รายๆละไม่เกิน 20 ไร่ๆละ 2,000 บาท รวมประมาณ 3,400 ล้านบาท



นางลดาวัลลิ์ กล่าวว่า เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนขาดรายได้ของเกษตรกรชาวสวนลำไย กว่า 200,000 ราย จึงขอเสนอให้รัฐบาลดำเนินการใน 4 เรื่องดังนี้

1.เร่งจ่ายเงินเยียวยาที่เกษตรกรชาวสวนลำไยเสนอขอไปแล้ว 3,400 ล้านบาทให้ทั่วถึงโดยเร็ว เกษตรกรมีเงินมาใช้จ่ายประทังชีวิตของครอบครัว

2.กำชับให้หน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานชั่งตวงวัด เข้ามาช่วยดูแลเพื่อไม่ให้เกษตรกรเสียเปรียบพ่อค้าเพราะที่ผ่านมายังไม่เคยได้ยินข่าวว่ามีหน่วยงานดังกล่าวนี้เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด

3.เร่งสร้างความยุติธรรมให้เกษตรกร ชาวสวนลำไยเรื่องการคัดเกรดและกำหนดราคาอย่างไม่เหมาะสม เช่น ลำไยบรรจุตะกร้า กก.ละ 20-23 บาท ลำไยร่วง กก.ละ 17-18 บาท และที่ควรแก้ไขคือ ราคาลำไยเกรด AA กก.ละ 17 บาท เกรดAกก.ละ 7 บาท ราคาต่างกันถึง 10 บาท แต่ขาดผลห่างกันแค่ 2 มม.และเมื่อพ่อค้าซื้อแยกเกรดแต่นำไปรวมกันขาย ทำแบบนี้เป็นการเอาเปรียบชาวสวนลำไยมากเกินไป

4.ควรบริหารจัดการลำไยอย่างบูรณาการระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้ข้อมูลความต้องการของตลาดไปถึงเกษตรกรก่อนฤดูการผลิตเร็วที่สุดเพื่อจะได้วางแผนกฝการผลิตให้สอดคล้องความต้องการของตลาด.



ทรงวุฒิ ทับทอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น