วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาครัฐสภาของสหประชาชาติ ประจำปี 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นวันแรก

คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาครัฐสภาของสหประชาชาติ ประจำปี 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นวันแรก





วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 21.00 – 24.00 นาฬิกา (ตามเวลาในประเทศไทย) ณ ห้องประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา คณะผู้แทนรัฐสภาไทยประกอบด้วย นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา ได้เข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาครัฐสภา ของสหประชาชาติประจำปี 2564 (The 2021 Parliamentary Hearing at the United Nations) เป็นวันที่หนึ่ง การประชุมนี้จัดขึ้นในรูปแบบการประชุมเสมือนจริงโดยสหภาพรัฐสภาร่วมกับสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ภายใต้หัวข้อหลัก “การต่อต้านการทุจริตเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นในการบริหารราชการแผ่นดินและเพิ่มโอกาสการพัฒนา” (Fighting corruption to restore trust in government and improve development prospects) โดยการประชุมในวันนี้มีการอภิปรายใน 2 หัวข้อย่อย ได้แก่ 1) “อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต: อุปสรรคและความท้าทายในการดำเนินการ” (The Convention Against Corruption: building blocks and implementation challenges) และ 2) การทุจริตที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินจำนวนมหาศาล หรือ “การทุจริตขนาดใหญ่” (Corruption involving vast quantities of assets (VQA), aka “grand corruption”)





ในการนี้ เวลา 22.00 น. นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ร่วมกล่าวอภิปรายในหัวข้อที่ 1 มีความว่า “นอกเหนือจากการเสริมสร้างกรอบการดำเนินงานทางกฎหมายในการต่อต้านการทุจริต รัฐสภาไทยขอยืนยันพันธกิจที่มุ่งมั่นในการเสริมสร้างการทำหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณเพื่อการต่อต้านการทุจริตให้เข้มแข็งมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-19) นอกเหนือจากคณะกรรมาธิการสามัญด้านการต่อต้านการทุจริตของทั้งสองภาแล้ว สภาผู้แทนราษฎรไทยยังได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าได้มีการดำเนินโครงการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่เบิกจ่ายจากวงเงินงบประมาณแผ่นดินถึง 76.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ไม่เพียงแต่ดำเนินการได้ทันการณ์และเกิดประสิทธิภาพเท่านั้นหากแต่ยังต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ด้วย อีกทั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้จะได้ทำการตรวจสอบปัญหาทางด้านสังคมและเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่เป็นผลมาจากการระบาดใหญ่นี้ด้วย



ด้วยระลึกอยู่เสมอว่าการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในภารกิจการต่อต้านการทุจริต คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงได้ทำงานคู่ขนานกับเครือข่ายการต่อต้านการทุจริตได้แก่ “คลินิกส่งเสริมธรรมาภิบาลต่อต้านการทุจริต”ซึ่งเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังการทุจริตที่จัดตั้งขึ้นในหลายจังหวัดภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐหรือ ปปท. เครือข่ายดังกล่าวเป็นกลไกใหม่ในการติดตามสอดส่องการทุจริตในระดับท้องถิ่น โดยทำงานประสานกับองค์กรนอกภาครัฐ มีวัตถุประสงค์ในการสอดส่องและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริต”



เครดิตข่าวโดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น