วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม เดินหน้าเข้าพบคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ขอสนับสนุนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า หลังมติคณะกรรมการชาติ เปิดไฟเขียว

ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม เดินหน้าเข้าพบคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ขอสนับสนุนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า หลังมติคณะกรรมการชาติ เปิดไฟเขียว



วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุม หมายเลข 414 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่ง สว.) คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี สู่ถ้วนหน้า และตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม 301 องค์กร เข้าพบและยื่นหนังสือต่อ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา เพื่อขอให้สนับสนุนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า หลังมติการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ที่มีมติเห็นชอบในหลักการและแนวทางการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าและให้เริ่มดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวภายในปีงบประมาณ 2565 หรือภายในเดือนตุลาคม 2564 โดยเด็กทุกคนจะต้องเข้าถึงสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ทั้งนี้ภาคประชาชนเกิดความกังวลเนื่องจากระยะเวลาล่วงเลยมาระยะหนึ่งแล้วยังไม่มีการเดินหน้าที่ชัดเจน จึงขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเร่งดำเนินการผลักดันเพื่อให้การช่วยเหลือเด็กเป็นไปอย่างครอบคลุมและทันท่วงที



ทั้งนี้ คุณสุนี ไชยรส ตัวแทนภาคประชาสังคม และคณะทำงานฯ กล่าวว่า "เหตุผลที่ต้องสนับสนุนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้านั้นถือว่าเป็นสวัสดิการที่จะทำให้ความช่วยเหลือเข้าถึงเด็กเล็กได้อย่างทันที ครอบคลุมเด็กทุกคนในประเทศประมาณ 42 ล้านคน จากเดิมเข้าถึงเพียง 1.8 ล้านคน และมีผลการศึกษาติดตามการดำเนินโครงการของรัฐพบว่า มีเด็กตกหล่นถึง 30% และขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ทำให้รายได้ของแม่และครอบครัวลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะแรงงานหญิงที่กำลังท้องหรือมีลูกอ่อนที่ถูกเลิกจ้างไม่สามารถทำงานแบบปกติได้ ค่าใช้จ่ายเด็กเล็กในบ้านเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ครอบครัวที่มีเด็กเล็กได้รับผลกระทบรุนแรงหากภาครัฐทอดทิ้ง ไร้มาตรการช่วยเหลือ คุณภาพชีวิตเด็กเล็กจะแย่ลงส่งผลต่อการพัฒนาประเทศระยะยาว จึงขอเข้าพบกรรมาธิการพัฒนาสังคม เด็ก สตรีฯ เพื่อขอให้เป็นอีกแรงในการสนับสนุนนโยบายดังกล่าว”



ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น