กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เชิญชวนบริหารสุขภาวะทางจิตช่วงวิกฤตโควิด-19
วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 134 ณ ศูนย์เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ, พันโท วรปรัชญ์ กาศสกุล และ พันโท หญิง บุณฑริกา ฑีฆวาณิช ผู้ช่วยโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้
ปัจจุบันชาวโลกเป็นจำนวนมาก กำลังประสบกับความทุกข์กายทุกข์ใจอันมีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกติดเชื้อรวมกัน มากกว่า 168 ล้านคน และเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 3.48 ล้านราย และยังมีประชากรโลกหลายพันล้านคนที่ต้องหยุดงาน ขาดรายได้ เพราะเกิดจากการล็อกดาวน์ของแต่ละประเทศ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ได้ผล สำหรับประเทศไทยนั้นมียอดผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 1.3 แสนคน เสียชีวิตมากกว่า 830 ราย และมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
จากบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา การที่จะสามารถหยุดการแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้ ประชากรโลกในแต่ละประเทศต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมากกว่าร้อยละ 70 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น ในปัจจุบันผู้นำในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้เริ่มจัดหาวัคซีนมาฉีดให้แก่ประชาชนในประเทศของตน และในขณะที่ผู้นำในแต่ละประเทศได้ดำเนินนโยบายการรักษาผู้ติดเชื้อ รวมทั้งป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสเป็นการบรรเทาความทุกข์ทางกายให้แก่ประชาชน ยังได้มีนโยบายมอบเงินเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพราะต้องหยุดงานเป็นการบรรเทาความทุกข์ทางใจอีกประการหนึ่ง เพื่อให้ทุกคนสามารถผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ไปได้ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ ประชาชนในชาติต่างๆ ก็ไม่สามารถเบาใจและดำเนินชีวิตได้ตามปกติเช่นเดิม
การรักษาบรรเทาโรคที่เป็นทุกข์ทางกายนั้น สามารถรักษาได้ตามแนวทางทางการแพทย์ ทำตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คือ ให้การรักษาตามอาการ สำหรับผู้ป่วยด้วยยาที่มีอยู่ และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่คนปกติ ทำการแนะนำให้บริหารร่างกายให้แข็งแรงปลอดภัยจากเชื้อ ด้วยการอยู่ห่างกัน กินร้อน ช้อนส่วนตัว ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย พร้อมทั้งดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกัน
ส่วนการรักษาโรค คือความทุกข์ทางใจนั้น ในฐานะพุทธศาสนิกชนต้องทำตามคำแนะนำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นแพทย์ใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านแก้ทุกข์ที่ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน คือต้องรักษาตามอาการสำหรับคนที่เป็นทุกข์ทางใจ ด้วยยา คือธรรมะ และทำการสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นแก่ใจ แนะนำการบริหารใจให้เกิดความเข้มแข็งพร้อมทั้งฉีดธรรมวัคซีนแก่จิตใจ
ธรรมะ สำหรับการรักษาโรคคือความทุกข์ทางใจของผู้ติดเชื้อผู้ที่เป็นทุกข์ กลัวการพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก เพราะต้องเข้ารับการรักษาเพียงผู้เดียวโดยญาติไม่สามารถเข้าเยี่ยมและเฝ้าดูแลได้ และกลัวที่จะต้องเสียชีวิตเพราะป่วยหนักจนไม่สามารถรักษาได้ คือการฝึกจิตให้พิจารณาสังขารร่างกายจนเห็นไตรลักษณ์ คือลักษณะทั่วไปแก่ทุกชีวิต 3 ประการ คือ
1. ความไม่เที่ยงของสังขาร โรคที่เกิดขึ้นมากับร่างกายนี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว จะตั้งอยู่ชั่วระยะเวลา แล้วก็ดับไปหรือหายไปในที่สุด ตามเหตุตามปัจจัย
2. ความเป็นทุกข์ของสังขาร โรคที่เกิดแก่ร่างกายนี้ ไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ ย่อมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
3. ความไม่อยู่ในอาณัติของสังขาร คือ ไม่มีใครสามารถควบคุมสังขารร่างกายนี้ไม่ให้เจ็บไม่ให้ป่วย และไม่ให้ตายได้ เพราะร่างกายนี้มีเชื้อโรคฝังอยู่ตลอดเวลาและจะไม่แสดงอาการออกมาตราบเท่าที่ร่างกายยังแข็งแรงและมีภูมิคุ้นกันอยู่ แต่เมื่อร่างกายขาดภูมิคุ้มกัน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำอ่อนกำลังลง เชื้อโรคที่ฝังอยู่หรือที่เข้ามาใหม่ก็สามารถแสดงอาการทำลายร่างกายได้ทันที เมื่อสามารถพิจารณาจนเข้าใจได้ตามนี้ ความทุกข์ทางใจที่เกิดจากการเจ็บป่วยและความกลัวจะเบาและทุเลาลงได้ ท้ายที่สุดจิตที่เคยอ่อนแอจะเกิดมีกำลัง และเข้มแข็งขึ้นมาได้
ธรรมะ สำหรับการรักษาโรค คือความทุกข์ทางใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ตามนโยบายอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติของภาครัฐ จนขาดเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ผ่อนรถผ่อนบ้านเลี้ยงดูตัวเองและคนในครอบครัว ตลอดจนลูกน้องบริวาร คือ การฝึกใจให้เข้าถึงหลักของการเสียสละ เพราะผู้ที่ติดเชื้อบางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถือว่าเป็นความสูญเสียสูงสุด ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะต้องรักษาชีวิตอันสำคัญที่สุดเอาไว้ด้วยการยอมเสียสละการงาน การเงิน หรือแม้แต่อวัยวะบางส่วนของร่างกาย ตามหลักการเสียสละทางพระพุทธศาสนา ที่ว่า “พึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต เมื่อเล็งเห็นประโยชน์สูงสุด พึงสละทั้งอวัยวะ และชีวิต เพื่อรักษาธรรมไว้”
จากหลักการข้างต้น แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของทุกคน ก็คือ ชีวิต และสูงกว่าชีวิตก็คือธรรมะ ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนจะต้องทำในตอนนี้ คือ ร่วมมือร่วมแรงกันรักษาชีวิตให้รอดและปลอดภัย จนกว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ทรัพย์สมบัติที่เป็นสิ่งของนอกกายนั้นยังสามารถหาใหม่ภายหลังได้ การฝึกจิตให้เข้าใจในการเสียสละทรัพย์ที่มีความสำคัญน้อย เพื่อรักษาชีวิตและธรรมที่มีความสำคัญมากกว่า ถือเป็นหลักการเสียสละที่ถูกต้องและสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ประการสุดท้าย คือการฉีดธรรมวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันแก่จิตธรรมดาว่าร่างกายที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน เมื่อได้รับเชื้อโรค ก็จะป่วยโดยง่าย และเมื่อมีอาการรุนแรง ไม่มียารักษา ท้ายที่สุดก็อาจทำให้เสียชีวิตลงได้ แต่หาก ได้รับการฉีดวัคซีน ร่างกายมีภูมิคุ้มกันก็สามารถที่จะต้านทานทนต่อโรคที่เข้ามาภายหลังได้ สำหรับวัคซีนนั้น ก็คือเชื้อโรคที่ผ่านการปรับแต่งทางการแพทย์ให้มีฤทธิ์การทำลายน้อยลง เมื่อนำมาฉีดเข้าร่างกาย ร่างกายจะรู้จักและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้ามาภายหลังได้ การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่จิต ด้วยการฉีดธรรมวัคซีน ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือ ต้องเอาลักษณะของความทุกข์แต่ละอย่างเปรียบเหมือนเชื้อโรคแต่ละชนิดที่ทำการปรับแต่งด้วยเหตุผลทางธรรมนำเข้าสู่จิต เพื่อให้จิตได้จดจำลักษณะ และสามารถพัฒนาภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู่กับความทุกข์ชนิดนั้นๆ ที่เกิดขึ้นมาภายหลังได้
ความทุกข์ใจที่เกิดจากความความสูญเสียบุคคลหรือสิ่งของอันเป็นที่รักนั้น ถือว่า เป็นความทุกข์ชนิดรุนแรงที่สุด เพราะเมื่อเกิดกับผู้ใดแล้ว ถ้าผู้นั้นไม่มีภูมิคุ้มกัน ก็ไม่สามารถจะทนรับสภาพได้ ดังนั้น ธรรมวัคซีนที่จะเป็นภูมิคุ้มกันในครั้งนี้ คือ มรณสติ การฝึกจิตให้ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ สำหรับหลักของการระลึกถึงความตาย คือ การระลึกถึงความตายที่จะมีมาถึงตนเป็นธรรมดา ไม่มีใครสามารถที่จะล่วงพ้นความตายไปได้ เป็นการมุ่งกระตุ้นเตือนให้ไม่ประมาทในชีวิต ใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้เป็นประโยชน์อย่างสูงสุด เพื่อให้วาระสุดท้ายของชีวิตสามารถประคองจิตให้ผ่องใส มีสติ และสงบ บุคคลที่ไม่ได้ฝึกเจริญมรณสติเมื่อต้องพบกับความสูญเสีย ย่อมเศร้าโศกและกลัวความตาย ส่วนบุคคลที่ฝึกเจริญมรณสติย่อมใช้ความตายเป็นเครื่องพัฒนาจิตวิญญาณให้สูงขึ้น ไม่ประมาทในชีวิต ประกอบแต่กรรมดี ผู้ที่ฝึกเจริญมรณสติแม้ไม่ได้บรรลุธรรมในปัจจุบัน ก็จะเป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผลและนิพพานในอนาคตเบื้องหน้าต่อไป
ดังนั้น หากจิตใจของผู้ใดได้ผ่านการฝึกพิจารณาเห็นสังขารตามกฎของไตรลักษณ์ มีความเข้าใจในหลักแห่งการเสียสละ และได้รับมรณสติวัคซีนไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จิตใจของผู้นั้นก็จะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น เมื่อประสบกับความทุกข์อั้นเกิดจากการสูญเสียบุคคลหรือสิ่งของอันเป็นที่รักหรือแม้แต่จะต้องพบกับความตายด้วยตนเอง ผู้นั้นย่อมสามารถอดทนและเอาชนะความทุกข์ทางใจชนิดนั้นได้ และสามารถบริหารสุขภาวะทางจิตให้อยู่ได้อย่างปลอดภัยในทุกสถานการณ์ เพราะว่า หลักของไตรลักษณ์ และมรณสติวัคซีนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นสามารถรักษา และป้องกันโรคคือความทุกข์ทางใจได้ผลดีนักแล
จิตฺตํ สุทนฺตํ สุคุตฺตํ สุขาวหํ
จิตที่ได้รับการฝึกดีแล้ว มีภูมิคุ้มกันแล้ว นำความสุขมาให้
ร้อยเอก พรสวรรค์ จันโปรด ป.ธ.9, พธ.ม.
อนุศาสนาจารย์ มณฑลทหารบกที่ 31.
ทรงวุฒิ ทับทอง
วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เชิญชวนบริหารสุขภาวะทางจิตช่วงวิกฤตโควิด-19
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น