วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ทหารกองทัพภาคที่ 3 ปกป้องชายแดน ป้องกันโรคลัมปีสกิน

ทหารกองทัพภาคที่ 3 ปกป้องชายแดน ป้องกันโรคลัมปีสกิน

วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 134 ณ ศูนย์เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ, พันโท วรปรัชญ์ กาศสกุล และ พันโท หญิง บุณฑริกา ฑีฆวาณิช ผู้ช่วยโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้

ในช่วงประมาณปลายเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้มีการรายงานว่าพบโคเนื้อแสดงอาการของ “โรคลัมปีสกิน” ที่บริเวณอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้มีการเก็บตัวอย่างของเชื้อไปส่งตรวจ ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ หลังทำการตรวจสอบแล้วได้ผลสรุปออกมาว่า เชื้อตัวเป็นเชื้อที่มีการแพร่ระบาดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ชื่อว่า “ลัมปีสกิน” ซึ่งจากการสันนิษฐานถึงสาเหตุของการเกิดโรค สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติได้ระบุว่า น่าจะเกิดมาจากการนำเข้าโคเนื้อมาเลี้ยงในพื้นที่ โดยเป็นโคเนื้อที่อาจจะมีการลักลอบเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน

โรคลัมปีสกิน เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Lumpy Skin Disease Virus ซึ่งสัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง เบื่ออาหาร มีน้ำตาไหลตลอดเวลา และมีตุ่มน้ำเหลืองขนาดใหญ่ประมาณ 2 – 5 เซนติเมตร ขึ้นอยู่ทั่วทั้งร่างกาย แต่จะพบมากที่บริเวณคอ หัว เต้านม ถุงอัณฑะ และหว่างขา ที่สำคัญตุ่มที่ขึ้นมาอาจแตกและ ตกสะเก็ดเป็นเนื้อตาย หากเป็นแบบนั้นก็จะทำให้หนอนหรือแมลงเข้ามาไชจนติดเชื้อได้ นอกจากนี้โค-กระบือยังมีอาการซึม มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และทางเดินอาหารร่วมด้วย ในส่วนของโคนมก็อาจจะเกิดการแท้งลูกและมีปริมาณน้ำนมที่ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งโรคลัมปีสกิน ถือเป็นเชื้อไวรัสที่เกิดขึ้นเฉพาะกับโค-กระบือเท่านั้น ไม่สามารถติดต่อมาสู่คนได้ แต่ในขณะเดียวกันหากโค-กระบือของเกษตรรายใดได้รับเชื้อแล้ว ได้รับการรักษาไม่ทันก็มักจะนำไปสู่การตายของสัตว์เหล่านั้น และสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรได้

สำหรับพาหะที่เป็นตัวนำเชื้อโรคนี้ไปติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ ได้แก่ เห็บ ยุง แมลงวัน แต่ทั้งนี้ก็สามารถเกิดขึ้นเองได้ผ่านการใกล้ชิดกันเองของกลุ่มสัตว์ ทั้งจากน้ำลาย สารคัดหลั่ง สะเก็ดแผล และการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกัน วิธีการรักษายังไม่มียาฆ่าเชื้อโดยตรง ทำได้แค่รักษาตามอาการเท่านั้น


วิธีป้องกัน กำจัดแมลงที่เป็นพาหะของโรค ด้วยการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงดูดเลือด เช่น ไม่ให้มีน้ำขัง กำจัดวัชพืช ติดตั้งมุ้งกันยุงที่ครอบสัตว์ รวมถึงรักษาความสะอาดที่คอกสัตว์และแยกสัตว์ป่วยออกจากฝูง ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นโรคอุบัติใหม่พบเกิดขึ้นแล้ว 35 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในพื้นที่ภาคเหนือพบการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, ลำปาง, ตาก, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, พิจิตร และสุโขทัย


กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ออกมาตรการควบคุมโรค ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยขอให้เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดหรือพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงในพื้นที่ ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่ออกมาอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการควบคุมโรคลัมปีสกิน อีกทั้งก็เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียของตัวเกษตรกร และเกษตรกรคนอื่นๆ ในชุมชน



ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เน้นย้ำการปฏิบัติงานของกองกำลังป้องกันชายแดน ในเรื่องการลักลอบนำเข้าโค-กระบือจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจจะนำพาโรคดังกล่าวเข้ามาในประเทศเพิ่มเติมอีก ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการ กองทัพภาคที่ 3 ได้กำชับให้ทุกหน่วยที่มีพื้นที่ตามแนวชายแดน ได้เฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าโค-กระบือจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างผิดกฎหมาย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างจริงจัง ซึ่งหากพี่น้องประชาชนพบเห็นการลักลอบนำเข้าโค-กระบือจากประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่ตามแนวชายแดน ขอให้แจ้งไปที่กองกำลังป้องกันชายแดน เพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ดังนี้
1) พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก : กองกำลังนเรศวร หมายเลขโทรศัพท์ 055-563703
2) พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย : กองกำลังผาเมือง หมายเลขโทรศัพท์ 053-211054.

ทรงวุฒิ ทับทอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น